แผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022 – 2024)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 May 2022 21:18
- Hits: 6538
แผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022 – 2024)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2022 – 2024) ฉบับภาษาไทยและภาษาฝรั่งเศส ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ (นายฌอง-อีฟว์ เลอ ดริยอง) ได้ลงนามร่วมกันในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก (Ministerial Forum for Cooperation in the Indo-Pacific) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (30 พฤศจิกายน 2564) ที่เห็นชอบแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 2021 – 2023) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ โดยหากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างแผนการฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้ ให้ กต. ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง] ซึ่งการประชุมดังกล่าว มีการดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้
1. การลงนามในแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส(ค.ศ. 2022 – 2024) เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลให้คณะผู้แทนไทยไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนและกลุ่มประเทศ G7 (ASEAN-G7 Foreign Ministers’ Meeting) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 - 12 ธันวาคม 2564 ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องเลื่อนการจัดพิธีลงนามแผนการฯ เป็นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเกี่ยวกับความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสภายในปี 2567 และเห็นพ้องให้ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาของแผนการฯ จากเดิมช่วงปี ค.ศ. 2021 – 2023 เป็นช่วงปี ค.ศ. 2022 – 2024 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงโดยยังคงระยะเวลาของการดำเนินแผนการ 3 ปีเช่นเดิม ซึ่งแผนการฯ ได้ระบุความร่วมมือใน 4 ส่วน ได้แก่ (1) การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคง (2) การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (3) การเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน และ (4) การส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นระดับโลก ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาของแผนการฯ เป็นการแก้ไขที่มิใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อแผนกิจกรรมที่ระบุในแผนการฯ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ดังกล่าว
2. การหารือทวิภาคีในประเด็นต่างๆ โดยไทยได้ขอบคุณฝรั่งเศสที่ได้บริจาควัคชีนป้องกันโรค โควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) 400,140 โดส ซึ่งได้ขนส่งมายังไทยแล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2565 (ฝรั่งเศสบริจาควัคนไฟเซอร์ให้ไทยเพิ่มเติมอีก 2,868,480 โดสและได้ขนส่งมายังไทยแล้ว เมื่อวันที่ 24 - 26 มีนาคม 2565 และวัคซีนสำหรับเด็ก 900,000 โดส ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ) และไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสในการเจรจาความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-สหภาพยุโรป รวมทั้งการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาค เช่น สถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครน-สหพันธรัฐรัสเชีย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5062