ผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 03 May 2022 21:02
- Hits: 6124
ผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการเยือนฯ ต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (ดาโตะ ชรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ) ได้เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นผู้นำรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การเยือนครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระดับผู้นำของไทยกับมาเลเซีย ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผลักดันความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้หารือในรูปแบบกลุ่มเล็ก แบบเต็มคณะ และระหว่างงานเลี้ยงมื้อค่ำ สรุปได้ ดังนี้
1. ผลการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ผลการหารือ |
|
1. ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย |
แสดงจตนาที่จะกระชับความร่วมมือทวิภาคีในทุกมิติ โดยเฉพาะความความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของโรคโควิด-19 การเปิดประเทศ ความร่วมมือด้านความมั่นคงและการพัฒนาพื้นที่ชายแดน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของอาเซียน รวมถึงใช้กลไกทวิภาคี เช่น คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission for Bilateral Cooperation: JC) และคณะกรรมการว่าด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดน (Joint Development Strategy for Border Areas: JDS) เพื่อปูทางไปสู่การประชุมประจำปีระดับนายกรัฐนตรี (Annual Consultation: AC) |
|
2. ความร่วมมือในการเปิด ประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 |
เปิดพรมแดนทางอากาศ ทางบก และทางน้ำระหว่างกันภายใต้มาตรการ Vaccinated Travel Lane (VTL) ของมาเลเซีย และมาตรการ Test and Go ของไทย |
|
3. ความร่วมมือด้านสาธารณสุข |
รับรองเอกสารการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัลร่วมกันโดยฝ่ายมาเลเซียประสงค์ให้เชื่อมโยงแฮปพลิเคชันหมอพร้อมของไทยกับแอปพลิเคชัน MySejahtera ของมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างทั้งสองประเทศ และเสนอให้ร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแสดงความชื่นชมมาตรการของไทยในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 โดยเฉพาะโครงการ “คนละครึ่ง” |
|
4. ความเชื่อมโยงพื้นที่ชายแดน |
ย้ำหลักการเปิดการเดินทางระหว่างกัน รวมทั้งการขับเคลื่อนโครงการความเชื่อมโยงชายแดน เช่น การสร้างถนนเชื่อมต่อด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่-บูกิตกายูฮิตัม และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก 2 แห่ง ให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว รวมถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพมหานคร-กรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางกรุงกัวลาลัมเปอร์-สาธารณรัฐสิงคโปร์ |
|
5. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ |
การส่งเสริมการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจบริเวณชายแดนเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเน้นการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ได้ตามเป้าหมาย 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 |
|
6. ความร่วมมือด้านแรงงาน |
การอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยในมาเลเซียเดินทางกลับไทยในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 |
|
7. สถานการณ์ในจังหวัด ขายแดนภาคใต้ |
การหารือเกี่ยวกับการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียยืนยันเจตนารมณ์ที่จะทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยดังกล่าวและนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม และการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศ |
|
8. ความร่วมมือด้านความมั่นคง |
นายกรัฐมนตรีเสนอให้กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดน โดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติ การป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย และความร่วมมือในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน รวมถึงความมั่นคงทางไซเบอร์ |
|
9. สถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ |
ทั้งสองฝ่ายเห็นถึงความสำคัญของบทบาทของอาเซียนในการจัดการกับประเด็นในภูมิภาค และสนับสนุนการทำงานของอาเซียน รวมทั้งการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ* ของผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับสถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศยูเครน โดยแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียกับประเทศยูเครน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลและอพยพคนชาติออกจากประเทศยูเครน |
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้แถลงข่าวร่วมกันที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของร่างแถลงข่าวร่วมฯ ในสาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565
________________________
*ฉันทามติ 5 ข้อ ได้แก่ (1) ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง (2) ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ (3) ให้มีทูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา (4) อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ (5) ทูตพิเศษเข้าไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 3 พฤษภาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5061