ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)]
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 April 2022 22:13
- Hits: 10119
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)]
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. เนื่องจากพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 723) พ.ศ. 2564 ได้สิ้นสุดการบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีอยู่ ดังนั้น เพื่อให้การสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ กค. พิจารณาแล้วจึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)] เพื่อขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคตามข้อ 2 ออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยมีหลักการ ดังนี้
1.1 ให้บุคคลธรรมดาหักลดหย่อนเงินที่บริจาคให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
1.2 ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
1.3 การบริจาคตามข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566
1.4 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการสำหรับการบริจาคสินค้าให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566
2. กค. ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยคาดว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีประมาณปีละ 5 ล้านบาท รวมขยายระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ภาษีประมาณ 9 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
2.1 ช่วยสนับสนุนการป้องกัน การระงับ และการยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะเป็นผลดีแก่สุขภาพของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ
2.2 ช่วยจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างทั่วถึง
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ดังนี้
ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี |
สาระสำคัญ |
|
1. บุคคลธรรมดา |
• ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเท่าจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนนั้น |
|
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล |
• ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ |
2. กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะการบริจาคสินค้าให้แก่ สปน. เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4842