ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 April 2022 22:08
- Hits: 9908
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้าน COVID-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อบริจาคเป็นสาธารณกุศล ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 720) พ.ศ. 2564 สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 แต่โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กค. พิจารณาแล้วเห็นควรขยายระยะเวลาการยกเว้นยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่การนำเข้าสินค้าสำหรับการบริจาคสินค้าดังกล่าวออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพื่อสนับสนุนการนำเข้ายา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ต้านโรค COVID-19 สำหรับบริจาคเป็นสาธารณกุศล เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าวได้อย่างทั่วถึงและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
2. กค. ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยคาดว่ามาตรการนี้จะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
2.1 ประมาณการการสูญเสียรายได้ การกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีนี้ คาดว่าภาครัฐจะสูญเสียรายได้ภาษี ประมาณปีละ 25 ล้านบาท
2.2 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้ 1) ช่วยสนับสนุนการรักษา การวินิจฉัย และการป้องกัน COVID-19 ซึ่งจะเป็นผลดีแก่สุขภาพของประชาชน ตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ 2) ช่วยจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างทั่วถึง
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อบริจาคเป็นสาธารณกุศล ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
1. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้าเพื่อบริจาค |
• ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัย หรือป้องกันโรค COVID-19 ที่บริจาคให้แก่ (1) สถานพยาบาล ได้แก่ สถานพยาบาลของทางราชการ/สถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐ/สถานพยาบาลขององค์การมหาชน/สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์การของรัฐบาล หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ สถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสถานพยาบาลของสภากาชาดไทย (2) หน่วยงานของรัฐอื่นๆ (3) องค์การหรือสถานสาธารณกุศลหรือสถานพยาบาลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด ตาม ม. 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด |
|
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาค |
• ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้โอนทรัพย์สิน (การโอนทรัพย์สินหมายถึงการบริจาคทรัพย์สินให้กับสถานพยาบาล หน่วยงานของรัฐ และองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามข้อ 1) |
|
3. ระยะเวลาใช้บังคับ |
• สำหรับการนำเข้าและการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 - 31 ธันวาคม 2566 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4841