สารบาหลี (Bali Message) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการทูตดิจิทัล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 April 2022 21:23
- Hits: 6282
สารบาหลี (Bali Message) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการทูตดิจิทัล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อสารบาหลี (Bali Message) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการทูตดิจิทัล* “ถอดหน้ากากการทูตดิจิทัลในยุค New Normal” (Bali Message on International Cooperation in Digital Diplomacy “Unmasking Digital Diplomacy in the New Normal”) (สารบาหลีฯ) เพื่อที่จะได้นำผลการพิจารณาแจ้งฝ่ายอินโดนีเซียทราบในโอกาสแรกตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า
1. กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้จัดการประชุม International Conference on Digital Diplomacy (ICDD) ภายใต้หัวข้อ “Digital Diplomacy for Crisis Management” เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ในรูปแบบกึ่งออนไลน์ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแสวงหาโอกาสสำหรับความร่วมมือด้านการทูตดิจิทัล (Digital Diplomacy) ระหว่างประเทศในอนาคต โดยในส่วนของไทย มีรองอธิบดีกรมสารนิเทศ (นายณัฐภาณุ นพคุณ) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมฯ ร่วมกับผู้แทนประเทศต่างๆ
2. สาระสำคัญของการประชุม ICDD แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
1) การกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไทย
รองอธิบดีกรมสารนิเทศ (นายณัฐภาณุ นพคุณ) ได้กล่าวถ้อยแถลงร่วมกับผู้แทนประเทศต่างๆ ในหัวข้อ “Digital Diplomacy for Crisis Management” โดยถ้อยแถลงของผู้แทนประเทศส่วนใหญ่ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับการทูตดิจิทัลที่จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการตอบสนองและบริหารจัดการวิกฤตต่างๆ ซึ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โลกสามารถเชื่อมโยงกันได้มากขึ้นด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ดี ผู้แทนหลายประเทศเห็นว่า แม้การทูตดิจิทัลจะช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานการทูตในสภาวะที่ไม่ปกติได้ แต่การทูตดิจิทัลไม่สามารถแทนที่การทูตแบบดั้งเดิม ที่เป็นการพบปะกันชึ่งหน้าได้
2) การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม ICDD
สารบาหลีฯ เป็นสารที่แสดงถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการทูตดิจิทัลในยุคหลัง โควิด 19 โดยเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของ 21 ประเทศ ที่เข้าร่วมการประชุม อาทิ เครือรัฐออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และไทย ซึ่งมีความตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญของการทูตดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงและมีส่วนช่วยปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในกระบวนการกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ และกาส่งเสริความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอยางยิ่งความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤตโควิด 19 ที่นานาประเทศต้องเผชิญร่วมกันนอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้ประเทศต่างๆ ขยายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องการทูตดิจิทัลเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมด้านดิจิทัลของทุกภาคส่วนรวมถึงสตรี เด็ก คนชรา ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ชายขอบ ตลอดจนส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจะมีการขับเคลื่อนผ่าน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นหลักที่ 1 : การพัฒนากรอบนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการทูตดิจิทัล เพื่อส่งเสริมแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมผ่านแนวคิดในเชิงบูรณาการและการเชื่อมโยงระหว่างหลาย ภาคส่วน
ประเด็นหลักที่ 2 : การจัดการวิกฤตผ่านการทูตดิจิทัล เพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการจัดการกับวิกฤตต่างๆ (ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและภัยอันตรายจากมนุษย์) ผ่านการทูตดิจิทัล
ประเด็นหลักที่ 3 : การจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการทูตดิจิทัล เพื่อให้การจัดการข้อมูลทางการทูตดิจิทัลสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าข้อมูลที่ใช้จะส่งผลกระทบและมีอิทธิพลอย่าง
ประเด็นหลักที่ 4 : นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งเสริมนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มผลิตภาพ พัฒนา ขีดความสามารถในการแข่งขัน รับมือกับความท้าทายในการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด
ประเด็นหลักที่ 5 : การเสริมสร้างขีดความสามารถและการมีส่วนร่วมทางดิจิทัล เพื่อให้สตรี เด็ก คนชรา ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ชายขอบของทุกประเทศได้รับโอกาสในการเสริมสร้างขีดความสามารถ ด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารและการเข้าถึงธุรกิจดิจิทัลได้
___________________
* การทูตดิจิทัล (Digital Diplomacy) คือ การดำเนินการทางการทูตในรูปแบบใหม่ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศและ Social Media ต่างๆ มาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายและกิจกรรมต่างๆ
A4833