ขอความเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 4 และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 26 April 2022 21:19
- Hits: 5875
ขอความเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 4 และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 4 และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (ตามข้อ 3) เพื่อให้ผู้แทนไทย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนเป็นประธานฝ่ายไทยใช้หารือกับฝ่ายภูฏาน ทั้งนี้หากในการประชุมดังกล่าว มีผลให้มีการตกลงเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากข้อ 3 อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับภูฏาน ให้ผู้แทนไทยสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. การประชุม JTC ไทย - ภูฏาน เป็นกลไกหารือสำคัญในการหารือและกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยกับภูฏาน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการภูฏานเป็นประธานร่วม
2. การประชุม JTC ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 4 เป็นเวทีการประชุมหารือระดับรัฐมนตรีการค้าเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏาน และแนวทางจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกันหรือเอื้อประโยชน์ต่อกัน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมดังกล่าวและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 26 - 29 เมษายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ต่อท่าทีไทยเพื่อให้ พณ. สามารถใช้ในการประชุมดังกล่าว
3. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 พณ. ได้จัดประชุมเตรียมการฝ่ายไทยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานภายใน พณ. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) (สศท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมศุลกากร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อพิจารณาประเด็นที่ฝ่ายไทยประสงค์จะผลักดันในการประชุมดังกล่าว โดยเห็นควรเสนอท่าทีไทย ดังนี้ 1) การส่งเสริมการค้าและการลงทุน 2) ความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement: PTA)* ระหว่างไทยกับภูฏาน 3) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการเกษตร ความร่วมมือด้านหัตถกรรม ความร่วมมือด้านท่องเที่ยว และ 4) ประเด็นอื่นๆ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับการนำเข้า ส่งออก และโลจิสติกส์ (National Single Window : NSW) การให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) การให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาและส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ให้กับภูฏาน การให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการบริหารนิคมอุตสาหกรรมและการบริหารจัดการท่าเรือบก (Dry Port)
นอกจากนี้ พณ. จะใช้โอกาสการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมฯ เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศภูฏาน เช่น การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานแหล่งผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับคณะผู้แทนจากภูฏาน
4. การประชุม JTC ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 4 และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะช่วยเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏานให้เพิ่มมากขึ้น โดยไทยและภูฏานมี ความสัมพันธ์อันดีต่อกันในหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจ พุทธศาสนา วัฒนธรรม และประชาชน ตลอดจนความสัมพันธ์พิเศษในระดับพระราชวงศ์ซึ่งความใกล้ชิดระหว่างสองประเทศจะเป็นรากฐานสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแม้ว่าภูฏานจะเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 2.6 แต่ด้วยการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภูฏาน ทำให้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ภูฏานหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาในปี 2566 ดังนั้น การประชุม JTC ไทย - ภูฏาน ครั้งที่ 4 จะเป็นการช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และขยายโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับภูฏานอย่างเป็นรูปธรรม
หมายเหตุ * PTA หมายถึง การให้สิทธิพิเศษทางการค้าหรือความร่วมมือเฉพาะในสินค้าที่มีความสนใจร่วมกันบางส่วนเท่านั้น ซึ่งจะต่างจากเขตเสรีทางการค้า (FTA) ที่จะมีการพิจารณาให้สิทธิทางการค้าในภาพรวมทั้งหมด เช่น สินค้า บริการ การลงทุน และการเงิน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 26 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4832