ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 19 April 2022 22:16
- Hits: 6871
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. …. ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอว่า
1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 61/2 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 บัญญัติให้ในอำเภอหนึ่ง ให้มีคณะบุคคลผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทของประชาชน ที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอ ในเรื่องที่พิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสนบาท หรือมากกว่านั้น ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งตั้งแต่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับยังไม่เคยมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น เพื่อกำหนดจำนวนทุนทรัพย์ การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด
2. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการไกล่เกลี่ย และประนอมข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน มรดก และข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ปรากฏว่ามีประชาชนซึ่งเกิดข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีจำนวนทุนทรัพย์เกิน 200,000 บาท ได้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอเพื่อนำข้อพิพาททางแพ่งดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาท แต่นายอำเภอไม่อาจรับข้อพิพาททางแพ่งนั้นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งได้ โดยสถิติข้อมูลการไกล่เกลี่ยของทุกอำเภอ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 - พ.ศ. 2564 พบว่า ข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 200,000 บาท ซึ่งได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยมีจำนวน 15,662 เรื่อง ไกล่เกลี่ยแล้วสำเร็จจำนวน 14,439 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92 อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานายอำเภอเคยได้รับการร้องขอให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีทุนทรัพย์เกินกว่า 200,000 บาท จำนวน 37 เรื่อง แบ่งเป็น ทุนทรัพย์ตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป จำนวน 1 เรื่อง ทุนทรัพย์ไม่เกิน 2,000,000 บาท จำนวน 2 เรื่อง ทุนทรัพย์ไม่เกิน 1,000,000 บาทขึ้นไป จำนวน 14 เรื่อง ทุนทรัพย์ไม่เกิน 500,000 บาทขึ้นไป จำนวน 20 เรื่อง
3. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างมาก ส่งผลให้เกิดข้อพิพาททางแพ่งอื่นที่มีจำนวนทุนทรัพย์มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่นมีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป กรมการปกครองจึงเสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ. 2553 โดยเห็นควรให้เพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ของข้อพิพาททางแพ่งอื่นจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 200,000 บาท เป็น 2,000,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและวิถีชีวิตประชาชนที่มีการทำนิติกรรมสัญญาจำนวนสูงขึ้น และเป็นการอำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำข้อพิพาททางแพ่งอื่นเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทได้มากยิ่งขึ้น จึงสมควรเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ของข้อพิพาททางแพ่งอื่น โดยที่มาตรา 71/10 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 บัญญัติให้ ก.พ.ร. มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา และกฎที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาเพิ่มจำนวนทุนทรัพย์ของข้อพิพาททางแพ่งอื่น จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกินสองแสนบาท เป็นไม่เกินสองล้านบาท และเสนอ ก.พ.ร. พิจารณา
4. ในคราวประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์การไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่น พ.ศ. …. และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ของการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่งอื่นจากเดิมที่กำหนดจำนวนทุนทรัพย์ไว้ไม่เกินสองแสนบาท เป็น จำนวนไม่เกินสองล้านบาท
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4577