รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 19 April 2022 21:09
- Hits: 7360
รายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอรายงานผลการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (12 กรกฎาคม 2559) ที่เห็นชอบ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2559-2564) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทฯ ไปปฏิบัติและรายงานผลต่อคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรี] ซึ่งคณะกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 [โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน] ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ และเห็นชอบแนวทาง/แผนการดำเนินงานต่อไป สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ภาพรวมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ
ยุทธศาสตร์ |
ผลการดำเนินงาน |
|
1. วางระบบรากฐานการเสริมสร้างคุณธรรมในสังคมไทย |
ส่งเสริมและพัฒนาชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม โดยใช้เกณฑ์การประเมินใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับส่งเสริมคุณธรรม ระดับคุณธรรม และระดับคุณธรรมต้นแบบ ด้วยการนำมิติทางวัฒนธรรมมาบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ โดยใช้กลไกพลัง “บวร” และ “ประชารัฐ” มาสร้างอัตลักษณ์ที่มีความโดดเด่น ส่งผลให้เกิดชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรมในทุกพื้นที่ของประเทศ จำนวน 35,795 แห่ง และได้คัดเลือกชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดในระดับคุณธรรมต้นแบบ จำนวน 235 แห่ง ที่มีผลสัมฤทธิ์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงประจักษ์เพื่อรับโล่รางวัลคุณธรรมต้นแบบโดดเด่นจากนายกรัฐมนตรี |
|
2. สร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมคุณธรรมให้เป็นเอกภาพ |
ขยายระยะเวลาการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ ต่อไปอีก 1 ปี ถึงปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อให้การจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) สอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเป็นห้วงละ 5 ปี ได้แก่ ปี 2566-2570 ปี 2571-2575 และปี 2576-2580 |
|
3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรม |
- จัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม ได้แก่ จัดอบรมและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม จัดกิจกรรมเทินทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญกับการกำกับติดตามประเมินผลสำเร็จและผลกระทบของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง - ขับเคลื่อนคุณธรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยการนำคุณธรรมที่สอดคล้องกับสถานการณ์ จำนวน 5 ด้าน สอดแทรกในกิจกรรมตามบทบาทภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ได้แก่ (1) ด้านการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่ มีการจัดทำประกาศมาตรการ สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและสร้างความเข้าใจในการป้องกันการแพร่ระบาด (2) ด้านความพอเพียงพอประมาณ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนภายใต้แนวคิด “เที่ยวชุมชม ยลวิถี” การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อบรมให้ความรู้ และจัดหาช่องทางในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ (3) ด้านจิตอาสา ดำเนินโครงการส่งต่ออัตลักษณ์ความเป็นไทย “ปันน้ำใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” (4) ด้านศาสนา การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนา และ (5) ด้านวัฒนธรรมประเพณี สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและกิจกรรมส่งเสริมความดีงามของชุมชน องค์กร และภาคีเครือข่ายต่างๆ - ดำเนินงานด้านวิชาการ โดยผลักดัน “ระบบเครดิตสังคม” (Social Credit System)* ส่งเสริมการให้พลังเชิงบวก เสริมสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิชาการในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการถอดบทเรียน องค์ความรู้กรณีศึกษาผลสำเร็จ การขับเคลื่อนชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม - ดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์ จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์คุณธรรม เรื่อง “วินัย” รณรงค์ให้ประชาชนมีคุณธรรมด้านวินัย จัดกิจกรรมการประกวด “Infographics Moral Awards” ในหัวข้อ “คนไทยวินัยไม่มีหมด” รวมทั้งสิ้น 15 รางวัล สร้างความตื่นตัวให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงจัดทำวีดิทัศน์สร้างความเข้าใจในการส่งเสริมพัฒนาชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม |
|
4. ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก |
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุกหน่วยงานได้ปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพและหัวใจบริการประชาชนภายใต้ “จิตอาสา” ที่อยู่ในหัวใจของทุกคน ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและเป็นแบบอย่างให้กับนานาชาติ |
2. แนวทาง/แผนการดำเนินการต่อไป
คณะกรรมการฯ เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และมอบให้ วธ. (กรมการศาสนา) และศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีผ่านสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นต่อไป วธ. (กรมการศาสนา) จึงกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป ดังนี้
2.1 เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ต่อ สศช. เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาหรือทราบตามขั้นตอนต่อไป
2.2 จัดกิจกรรมแถลงผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทฯ ที่ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนตั้งแต่ปี 2559-2565 โดยนำเสนอผลงานจากหน่วยงานที่เป็นต้นแบบเพื่อสร้างการรับรู้และเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย
2.3 จัดเวทีสร้างการรับรู้แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรมระดับจังหวัด ระดับกระทรวง และผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
2.4 ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องการประเมินชุมชน องค์กร อำเภอ และจังหวัดคุณธรรม เพื่อให้การดำเนินงานส่งเสริมคุณธรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนกำกับ ติดตาม และส่งเสริมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดที่กำหนด
__________________________
* ระบบเครดิตสังคม เป็นเครื่องมือและกลไกในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดกรอบพฤติกรรมเชิงบวกที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข โดยการกำหนดค่านิยมและพฤติกรรมเชิงบวกที่ทุกสังคมเห็นพ้องร่วมกัน แต่แตกต่างไปตามบริบททางพื้นที่และวัฒนธรรม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4573