รายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 19 April 2022 20:54
- Hits: 7900
รายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอดังนี้
1. รับทราบรายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (โควิด-19) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564
2. เห็นชอบข้อเสนอแนะการบริหารงานและการให้บริการประชาชนกรณีเกิดสภาวะวิกฤตในอนาคต และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวโดยให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามความคืบหน้าและรายงานต่อ ก.พ.ร. ต่อไป
ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงบประมาณ ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. รายงานว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ได้จัดทำรายงานการถอดบทเรียนการดำเนินการของส่วนราชการและจังหวัดในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 [ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กันยายน 2563 และ 20 กรกฎาคม 2564] โดยรวบรวมข้อมูลจากส่วนราชการจากส่วนกลางในระดับกรมทั้งสิ้น 153 ส่วนราชการ (ประมวลผลในระดับกระทรวง) และส่วนภูมิภาคทั้งสิ้น 76 จังหวัด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานและให้บริการประชาชนได้ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพหากเกิดภาวะวิกฤตในอนาคต ทั้งนี้ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบให้นำรายงานดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลกระทบของการแพร่ระบาดจากโควิด-19 สามารถจำแนกได้ ดังนี้
1.1 ผลกระทบต่อวิธีการปฏิบัติราชการ เช่น การให้บริการประชาชนและบริการสาธารณะ โดยเฉพาะงานบริการที่จำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบในเรื่องดังกล่าวร้อยละ 56.41 (สูงกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่มีส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบร้อยละ 39.47) รูปแบบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานจากที่บ้านตามมาตรการ Work From Home พบปัญหา เช่น ความพร้อมของอุปกรณ์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากร และการเข้าถึงข้อมูลจากส่วนกลาง
1.2 ผลกระทบต่อผลการปฏิบัติราชการซึ่งส่งผลต่อการดำเนินการตามตัวชี้วัดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และ 2564 ได้แก่ กลุ่มตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ กลุ่มตัวชี้วัดด้านการช่วยเหลือทางสังคมและการดูแลผู้เปราะบาง และกลุ่มตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานและการสร้างความสามารถในการแข่งข้นให้กับประเทศ โดยพบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีหลายตัวชี้วัดที่ได้รับผลกระทบลดลงเมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เช่น มูลค่าสินค้าเกษตร มูลค่าการค้าชายแดนผ่านแดน และรายได้ภาษีสรรพากรที่จัดเก็บได้
2. การตอบสนองของส่วนราชการและจังหวัดต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อให้การดำเนินภารกิจของหน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่
2.1 การปรับเปลี่ยนกฎหมายและแนวทางเพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มเป็นร้อยละ 28.21 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 อยู่ที่เพียงร้อยละ 7.89) เช่น การปรับปรุงแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณ การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ ตามความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของส่วนราชการ นอกจากนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ได้เห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนในการติดต่อราชการเพื่อขออนุญาตกับหน่วยงานของรัฐจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาต การแจ้ง การชำระภาษีหรือเงินอื่นใดที่บุคคลต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐ และการงดหรือยกเว้นค่าปรับ เบี้ยปรับ ในกรณีดำเนินการล่าช้า ซึ่งหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้วจำนวน 90 กระบวนงาน จากจำนวนทั้งสิ้น 103 กระบวนงาน คิดเป็นร้อยละ 87.38 อย่างไรก็ตาม แม้บางกระบวนงานจะไม่สามารถดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวได้ แต่หน่วยงานของรัฐได้มีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระของประชาชนในการขอรับบริการ
2.2 การปรับรูปแบบแนวทางการทำงานภายในส่วนราชการ และการให้บริการประชาชน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในการทำงาน รวมถึงปรับปรุงระบบงานบริการให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) มากขึ้น โดยในปี 2564 ส่วนราชการร้อยละ 97.44 ได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบออนไลน์ และร้อยละ 61.10 ได้ปรับวิธีการให้บริการประชาชนให้อยู่ในรูปแบบ e-Service นอกจากนี้ ในการบริหารงานระดับจังหวัดได้มีการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทุกมิติในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถกำหนดมาตรการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
2.3 การออกมาตรการในการป้องกันและเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำแนวทางปฏิบัติที่ส่วนกลางกำหนดมาปรับใช้กับพื้นที่ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความรุนแรงของสถานการณ์ในจังหวัด เช่น มาตรการการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน กลไกเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ จังหวัดได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานและการให้บริการ เช่น หุ่นยนต์ช่วยในการส่งอาหารและเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล (จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนครและยะลา) การพัฒนาแอปพลิเคชันหรือระบบคัดกรอง ติดตาม และเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงของจังหวัด(จังหวัดนครพนม สุรินทร์ ยะลา และตรัง) ระบบการจัดหาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 และการจองคิวฉีดวัคซีนผ่านโปรแกรม “ปากน้ำพร้อม” ของจังหวัดสมุทรปราการ การจองคิวฉีดวัคซีนผ่านโปรแกรม “พิดโลกพร้อม” ของจังหวัดพิษณุโลก การรับส่งต่อผู้ป่วยผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (E-Refer) และโปรแกรมการส่งกลับผู้ป่วย (Bed Sharing) ของจังหวัดศรีสะเกษ
3. ตัวอย่างการปฏิบัติที่ดี
ระดับ |
ตัวอย่างการปฏิบัติที่ดี |
ส่วนราชการ |
• กรมควบคุมโรคใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์เพื่อสั่งการ ควบคุมและประสานงานความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน การเปิดศูนย์ Smart-Emergency Operation Centre ที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เชื่อมโยงข้อมูลที่กระจายอยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และยังได้ขยายผลศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขไปยังกลุ่มอาเซียนในการซ้อมแผนโรคระบาดข้ามชาติในประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย ส่งผลให้การจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับรางวัลชนะเลิศ United Nations Public Service Awards 2021 (UNPSA) ขององค์การสหประชาชาติ • กรมประมงกำหนดมาตรการเชิงรุกและบูรณาการการทำงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สินค้าประมงไทย และแก้ไขปัญหาสินค้าล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรชาวประมงต้องปฏิบัติตามแนวทางด้านสาธารณสุข เพื่อคุมเข้มไม่ให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 และการเปิด “Fisheries shop” จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำไทยออนไลน์จากเกษตรกรโดยตรง ส่งผลให้มียอดขายผ่าน Fisheries shop มูลค่ารวมกว่า 2 ล้านบาท • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการให้ความสำคัญของความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มผู้เปราะบางอื่นๆ โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมในการลงพื้นที่ให้ความรู้ แจกหน้ากากอนามัย และคัดกรองเบื้องต้น รวมทั้งเปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้าน และมีมาตรการตรวจคัดกรอง แยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค |
จังหวัด |
• จังหวัดสมุทรสาครเป็นต้นแบบของการมีส่วนร่วมของภาครัฐและภาคเอกชน ในการป้องกันโควิด-19 ผ่านกระบวนการทำ Factory Accommodation Isolation ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมและหอการค้าจังหวัด โดยให้โรงงานหรือสถานประกอบการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนพนักงาน เพื่อใช้แยกกักตัวและรักษาแรงงานในโรงงานที่เป็นผู้ติดเชื้อในกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ ตามมาตรการควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดและประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้การดูแลรักษาผู้ป่วย โดยใช้วิธี Telemedicine ส่งผลให้มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 50,000 เตียง (เฉพาะการรองรับแรงงาน) • จังหวัดเชียงใหม่ นำมาตรการ Bubble and Seal มาใช้จำกัดขอบเขตการควบคุมโรคในเรือนจำไม่ให้มีการกระจายสู่ผู้ต้องขังแดนอื่นหรือพื้นที่ภายนอก โดยการปิดพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด 28 วัน และเร่งค้นหาผู้ที่มีอาการของโรค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการการรักษาให้รวดเร็วที่สุด รวมทั้งมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ทำให้จังหวัดสามารถดำเนินมาตรการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
4. บทสรุปผลลัพธ์ที่สำคัญที่ส่วนราชการและจังหวัดใช้ในการปรับเปลี่ยนแนวทางและวิธีการดำเนินภารกิจของภาครัฐ ตลอดจนแนวทางการให้บริการประชาชนเพื่อรองรับมาตรการควบคุมโรคและการบริหารจัดการในสภาวะวิกฤตสามารถสรุปได้ ดังนี้
4.1 การปรับเปลี่ยนการบริการภาครัฐให้อยู่ในรูปแบบ e-Service ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถติดต่อและทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยในเดือนธันวาคม 2564 มีงานบริการประชาชนที่อยู่ในรูปแบบ e-Service เพิ่มเป็น 325 งานบริการ (จาก 280 งานบริการ ในเดือนมีนาคม 2563)
4.2 การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการผ่านรูปแบบหรือช่องทางดิจิทัล นำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลและเผยแพร่ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ
4.3 การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของส่วนราชการเพื่อลดความหนาแน่นและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจากข้อมูลพบว่าปี 2563 และ 2564 ทุกส่วนราชการระดับกรมดำเนินมาตรการ Work From Home คิดเป็นร้อยละ 100 [ไม่รวมส่วนราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม (กห.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.)] โดยมีมาตรการ เช่น ปฏิบัติงานที่บ้านสลับกับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของส่วนราชการ สัปดาห์ละ 1 วัน / 2 วัน สัปดาห์เว้นสัปดาห์
4.4 การบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการเฝ้าระวัง ติดตาม รวมถึงการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ (ตามข้อ 2.3)
4.5 การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ โดยในปี 2564 ส่วนราชการนำนวัตกรรมมาใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.10 (25 หน่วยงาน จาก 39 หน่วยงาน) นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐผ่านกิจกรรม My Better Country Hackathon ที่จัดโดยสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อเสนอเพื่อออกแบบและพัฒนางานภาครัฐ โดยมีตัวอย่างข้อเสนอที่นำไปขับเคลื่อนและนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมงานภาครัฐแล้ว เช่น ระบบตรวจสอบข้อมูลรถจักรยานยนต์รับจ้างของกรมการขนส่งทางบก ระบบการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ของ สธ.
4.6 ปัจจัยสำเร็จของการบริหารจัดการภาวะวิกฤตในพื้นที่นำไปสู่การขับเคลื่อนจังหวัดที่มีผลสัมฤทธิ์สูง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้แก่ (1) การให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารจัดการในพื้นที่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ (2) ความร่วมมือของประชาชน (3) การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และภาคีเครือข่ายต่างๆ (4) ความพร้อมในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในแง่ของบุคลากร งบประมาณ การรักษาพยาบาล เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์ และสถานที่ (5) การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เข้าใจเพื่อลดความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น และให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์และมีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้น และ (6) ระบบฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ทันเวลา และครอบคลุมช่วยให้การวางแผนและการตัดสินใจถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
5. ข้อเสนอแนะการบริหารงานและการให้บริการประชาชนกรณีเกิดสภาวะวิกฤตในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสาธารณชนสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ข้อเสนอแนะ/ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง |
|
5.1 การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติ งานของภาครัฐ |
• ให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้ปรับรูปแบบการทำงานโดยการพัฒนานวัตกรรมหรือนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพต่อไป และให้คงคุณภาพของการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนเช่นเดิมแม้สภาวะวิกฤตจะคลี่คลายลง รวมถึงขยายการดำเนินการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติงานและการบริการประชาชนและผู้ประกอบการในด้านอื่นๆ ที่มีผลกระทบสูงและมีปริมาณมากต่อไป เช่น การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ ของกรมควบคุมโรค การนำอากาศยานไร้คนขับ (Drone) มาใช้ ในการสำรวจพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดโควิด-19 ของจังหวัดมุกดาหาร • ให้คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลกลางภาครัฐ และผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐจัดทำข้อมูลหลักของหน่วยงาน โดยจัดทำแผนการขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวและดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อรองรับการทำงาน และการให้บริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มบริการแบบเบ็ดเสร็จ และตอบสนองตามความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยเร่งพัฒนา Biz Portal และ Citizen Portal และกำหนดให้เป็นแพลตฟอร์มกลางของงานบริการภาครัฐสำหรับภาคธุรกิจและประชาชน รวมทั้งการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการทำธุรกรรมกับภาครัฐที่ได้มาตรฐานและมีความน่าเชื่อถือ เช่น การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ระบบและแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ระบบ e-Payment e-Receipt และ e-Document • ให้สำนักงาน ก.พ. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดำเนินการร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลประเภทต่างๆ เช่น คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เพื่อวางแผนการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรภาครัฐทุกประเภท ทั้งในส่วนของการเร่งสร้างและรักษาบุคลากรภาครัฐด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและบุคลากรภาครัฐทั่วไป การเสริมและพัฒนาทักษะ (Upskill) และสร้างทักษะใหม่ (Reskill) เพื่อให้มีศักยภาพในการบริหารและปฏิบัติงานด้านระบบดิจิทัลในอนาคต • ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สพร. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน ก.พ.ร. ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบในการขับเคลื่อนด้านดิจิทัสให้มีความชัดเจน โดยพิจารณากรอบกฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศต่อไป เช่น มาตรฐานรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของนิติบุคคล มาตรฐานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศและภายในประเทศ แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดชอบในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรฐานเกี่ยวกับการจัดเก็บและแลกเปลี่ยนเอกสารที่มีชั้นความลับ |
|
5.2 การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ |
• ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย (มท.) และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาแนวทางสำหรับการจัดหางานบริการสาธารณะผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อกำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ วิธีการ ในการบริหารจัดการงบประมาณและโครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม บทบาทของส่วนราชการและภาคีเครือข่าย รวมถึงวิธีการติดตามและประเมินผลการดำเนินการผ่านเครือข่ายให้มีความชัดเจน • ให้ มท. พัฒนากลไกหรือเครื่องมือในการบริหารจัดการในพื้นที่ในสถานการณ์วิกฤตอื่นที่มิใช่โรคระบาด หรือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถประกาศใช้ได้ทันทีเมื่อเผชิญสถานการณ์ โดยไม่ต้องรอการสั่งการจากส่วนกลางและใช้กลไกเฝ้าระวังผ่านเครือข่ายต่างๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐภายในจังหวัดและต่างพื้นที่ |
|
5.3 การจัดทำและทบทวนแผนบริหารความพร้อมต่อสภาวะวิกฤต (Business Continuity Plan: BCP) |
• ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำการจัดทำ BCP ไปกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินสถานะของหน่วยงานภาครัฐในการเป็นระบบราชการ 4.0 และการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อยกระดับแผน BCP ที่หน่วยงานของรัฐควรดำเนินการทบทวน ซักซ้อม และปรับปรุงแผนเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง และนำแผนไปใช้อย่างจริงจังเมื่อเกิดเหตุวิกฤตเพื่อลดผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนให้สามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุดหยุดลง |
|
5.4 การสร้างการมีส่วนร่วม ของประชาชนในการออกแบบ การให้บริการผ่านกระบวนการ รับฟังความคิดเห็น |
• ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็น เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อพัฒนานวัตกรรมงานบริการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรม My Better Country Hackathon ที่เปีดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานบริการภาครัฐ และนำข้อเสนอที่ได้ไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยเฉพาะการออกแบบงานบริการที่คำนึงถึงประสบการณ์ ความต้องการ และสภาพปัญหาที่เฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม เพื่อให้งานบริการภาครัฐสามารถตอบสนองและตรงตามความต้องการของผู้รับบริการ |
|
5.5 การวางระบบการบริหารงบประมาณในระดับพื้นที่ |
• ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เสนอ ก.บ.ภ. พิจารณาปรับแนวทางการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ได้รับจัดสรรตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด โดยให้การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อแก้ไขในภาวะวิกฤตในกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรีรองรับ เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) และ/หรือคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) แล้วจึงรายงานให้ส่วนกลางรับทราบ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ อาจกำหนดให้มีการหารือกับผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ สำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามระเบียบการบริหารงบประมาณที่เกี่ยวข้อง • คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติควรวางแนวทาง หลักเกณฑ์ในการบูรณาการงบประมาณจากทุกแหล่งที่จัดสรรให้กับจังหวัด เพื่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถบริหารจัดการงบประมาณให้มีเอกภาพ ลดความซ้ำช้อน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเป็นแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่กรณีโรคระบาดอื่นต่อไป นอกจากนี้ หน่วยงานตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ควรสรุปบทเรียนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบการดำเนินงานและการใช้จ่ายงบประมาณในภาวะวิกฤตและสถานการณ์ฉุกเฉิน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4571