รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทยและมองโกเลีย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 19 April 2022 20:19
- Hits: 6337
รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทยและมองโกเลีย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและมองโกเลีย (บันทึกความเข้าใจฯ) และเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของฝ่ายไทย รวมทั้งมอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. ประเทศไทยและมองโกเลียได้จัดทำความตกลงทวิภาคีว่าด้วยบริการเดินอากาศ ลงนามเต็มเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2537 เพื่อใช้เป็นความตกลงฉบับแม่บทในความสัมพันธ์ด้านการบินระหว่างกัน ต่อมาทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 ณ กรุงเทพมหานคร และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อยืนยันการปรับปรุงและการเพิ่มข้อบทและสิทธิการบินต่างๆ จากที่กำหนดไว้ในความตกลงฯ และบันทึกความเข้าใจลับ และคณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 โดยการปรับปรุงและการเพิ่มข้อบัญญัติและสิทธิการบินต่างๆ มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
รายการ (เลขที่ข้อในความตกลงฯ) |
ความตกลงฯ |
บันทึกความเข้าใจ |
||
คำจำกัดความ “เจ้าหน้าที่การเดินอากาศ” (ข้อ 1) |
ไทย – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มองโกเลีย – สำนักงานการบินพลเรือนแหงมองโกเลีย |
ไทย – สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มองโกเลีย – กระทรวงการพัฒนาถนนและการขนส่งแห่งมองโกเลีย และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศมองโกเลีย |
||
ข้อบัญญัติ เรื่อง ความปลอดภัย |
ไม่ระบุ |
เพิ่มเป็นข้อ 5 ทวิ ในความตกลงฯ โดยเป็นไปตามร่างข้อบทมาตรฐานของไทยเกี่ยวกับหลักการตรวจค้นอากาศยานภายใต้ข้อบท 16 ของอนุสัญญาชิคาโก |
||
พิกัดอัตราค่าขนส่ง (ข้อ 14) |
อัตราค่าขนส่งซึ่งสายการบินที่กำหนดจะเรียกเก็บจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของทั้งสองฝ่ายก่อนเริ่มนำไปใช้ [หรือเรียกว่าระบบการเห็นชอบทั้งสองฝ่าย (Dual Approval)] |
สายการบินที่กำหนดสามารถกำหนดพิกัดอัตราค่าขนส่งเองได้โดยไม่ต้องได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่การเดินอากาศ เพื่อให้ค่าขนส่งเป็นไปตามกลไกตลาด (หรือเรียกว่า ระบบเสรี) |
||
ใบพิกัดเส้นทางบิน (ภาคผนวก) |
ไทย – กรุงเทพฯ -2 จุดระหว่างทางใดๆ ที่จะเลือก – อูลานบาตอร์ มองโกเลีย – อูลานบาตอร์ – 2 จุดระหว่างทางใดๆ ที่จะเลือก – กรุงเทพฯ |
ไทย – จุดใดๆ ในไทย – 2 จุดระหว่างทางใดๆ ที่จะเลือก – จุดใดๆ ในมองโกเลีย มองโกเลีย – จุดใดๆ ในมองโกเลีย – เซี่ยงไฮ้ และ 1 จุดระหว่างทางที่จะเลือก – จุดใดๆ ในไทย (ลดการจำกัดจุดเริ่มต้นทำการบินและจุดลงจอดในประเทศคู่ภาคี) |
||
สิทธิความจุความถี่ (บันทึกความเข้าใจลับ) |
2 เที่ยวต่อสัปดาห์ ด้วยแบบอากาศยานใดๆ บนเส้นทางบินที่ระบุไว้ |
สายการบินที่กำหนดทั้งสองฝ่ายสามารถทำการบินได้ ดังนี้ (1) เส้นทาง อูลานบาตอร์ – กรุงเทพฯ และ กรุงเทพฯ – อูลานบาตอร์ : 5 เที่ยวต่อสัปดาห์ด้วยจำนวนที่นั่งสูงสุด 850 ที่นั่ง และ (2) เส้นทางอื่นนอกเหนือจากข้อ (1) อันระบุไว้ในใบพิกัดเส้นทางบิน: 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ด้วยจำนวนที่นั่งสูงสุด 500 ที่นั่ง |
||
สิทธิรับขนการจราจร1 (บันทักความเข้าใจลับ) |
สายการบินที่กำหนดทั้งสองฝ่ายสามารถทำการบินโดยใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 และ 4 ได้อย่างเต็มที่ แต่ห้ามทำการบินโดยใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 |
คงเดิม (ทั้งนี้ ไทยและมองโกเสียจะหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ร่วมกันในอนาคตต่อไป) |
||
การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน |
ไม่ระบุ |
ระบุเพิ่มสิทธิในการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน ดังนี้ (1) สายการบินสามารถทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินที่กำหนดของภาคีคู่สัญญาสำหรับเส้นทางบินระหว่างประเทศและภายในประเทศ (ตราบเท่าที่เป็นบริการต่อเนื่องจากการจราจรระหว่างประเทศ) โดยจะไม่นับหักสิทธิของสายการบินผู้ทำการตลาด (2) สายการบินสามารถทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สามโดยจะต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ ณ จุดขายว่าสายการบินใดทำการบินบนเส้นทางบินช่วงใด ทั้งนี้ การนับหักสิทธิจะนับหักทั้งสายการบินผู้ดำเนินบริการและสายการบินผู้ทำการตลาด |
2. ประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการหารือดังกล่าว
การปรับปรุง/เพิ่มข้อบัญญัติและสิทธิการบินต่างๆ ข้างต้น เป็นการเปิดโอกาสให้สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถขยายบริการและเครือข่ายการบินเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสายการบินในการกำหนดราคาและการวางแผนการให้บริการรวมถึงเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือในด้านมาตรฐานความปลอดภัยแก่อุตสาหกรรมการบินของไทยในเส้นทางนี้ อันเป็นการส่งเสริมการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การค้า และบริการระหว่างประเทศทั้งสองประเทศต่อไป
3. บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่มีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างภาคีคู่สัญญา ในระหว่างที่รอให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของภาคีผู้ทำความตกลงทั้งสองฝ่ายจะกระทำตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้โดยทันที
____________________________
1สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพทางการบิน (Freedoms of the Air) หมายถึง สิทธิในการดำเนินบริการเดินอากาศแบบประจำระหว่างประเทศโดยแด่ละประเภทมีความหมาย ดังนี้ สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 1 อนุญาตให้สายการบินบินผ่านน่านฟ้า สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 2 อนุญาตให้สายการบินแวะจอด เช่น เดิมน้ำมันกรณีฉุกเฉิน สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศของตนไปยังประเทศอื่น สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 4 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศอื่นไปยังประเทศของตน สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศคู่ตกลงไปยังประเทศที่สาม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4566