การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาคุมาโมโตะ (Kumamoto Declaration) สำหรับการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (4th Asia-Pacific Water Summit: 4th APWS)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 19 April 2022 20:07
- Hits: 6041
การขอความเห็นชอบต่อร่างปฏิญญาคุมาโมโตะ (Kumamoto Declaration) สำหรับการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (4th Asia-Pacific Water Summit: 4th APWS)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาคุมาโมโตะ (Kumamoto Declaration) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 (4th Asia-Pacific Water Summit: 4th APWS) เนื่องจากร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าวอาจยังมิใช่ร่างสุดท้าย ดังนั้น หากมีการปรับแก้ไขที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย อนุมัติให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาฯ ในการประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 23 – 24 เมษายน 2565 ผ่านระบบวีดิทัศน์แบบถ่ายทอดสด หรือผ่านการบันทึกวีดิทัศน์ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 4 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 24 เมษายน 2565 ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ “Water for Sustainable Development - Best Practices and the Next Generation” ซึ่งจะมีพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 23 เมษายน 2565 โดยมีผู้นำของประเทศที่เข้าร่วมประชุมร่วมกล่าวถ้อยแถลง (Statement) และรับรองปฏิญญาคุมาโมโตะที่เป็นเอกสารของผลลัพธ์ของการประชุม ในวันที่ 24 เมษายน 2565 โดยร่างปฏิญญาฯ ประกอบด้วย ประเด็นสำคัญ จำนวน 4 ประการ ได้แก่
1. ความท้าทายและการฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 การระบาดของโรคโควิด - 19 เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติและการจัดหาน้ำ รวมทั้งการเข้าถึงน้ำที่สะอาดปลอดภัย และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ รวมทั้งในแง่ของสุขาภิบาล ประกอบกับอุทกภัยและภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยขัดขวางการต่อสู้กับโรคโควิด - 19 ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งประสบความรุนแรงและขอบเขตของปัญหาแตกต่างกันไป
2. การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมที่มุ่งเน้นคุณภาพที่สูงขึ้น การฟื้นฟูจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มุ่งเน้นคุณภาพที่สูงขึ้น เป็นสังคมที่ฟื้นตัวได้เร็ว ยั่งยืน และครอบคลุมโดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคส่วนน้ำ การเปลี่ยนแปลงนี้จะดำเนินการโดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ที่เปิดกว้าง และโปร่งใส
3. การเร่งรัดการปฏิบัติ เพื่อตระหนักถึงสังคมที่มุ่งเน้นคุณภาพที่สูงขึ้น เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพและปรับปรุงมาตรฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อมูลของภาคส่วนน้ำ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการปรับปรุงธรรมาภิบาล การปิดช่องว่างทางการเงิน และการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา
4. ผลลัพธ์การประชุมระดับผู้นำด้านน้ำแห่งภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ครั้งที่ 4 จะนำไปหารือในเวทีด้านน้ำระดับโลก อาทิ การประชุมทบทวนการดำเนินการด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษฯ (Midterm Review of the Water Action Decade) ของสหประชาชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมือง (High - level political Forum) การประชุมเวทีระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจาก ภัยพิบัติ (Global Platform for Disaster Risk Reduction) การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของสหประชาชาติ (UN Climate Change Conference) การประชุมสุดยอดผู้นำจี 7 (G7 Summit) และการประชุมสุดยอดผู้นำจี 20 (G20 Summit)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 19 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4564