การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 13 April 2022 12:30
- Hits: 7580
การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) เสนอดังนี้
1. อนุมัติและรับทราบตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้
1.1 อนุมัติการปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 49,619.73 ล้านบาท จากเดิม 1,365,483.84 ล้านบาท เป็น 1,415,103.57 ล้านบาท การปรับปรุงแผนการชำระหนี้ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,035.29 ล้านบาท จากเดิม 362,233.72 ล้านบาท เป็น 363,269.01 ล้านบาท รวมทั้งเห็นควรให้หน่วยงานที่บรรจุกรอบวงเงินกู้ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2565 ปรับปรุง ครั้งที่ 2 เร่งรัดการดำเนินการตามแผนดังกล่าวด้วย
1.2 อนุมัติการบรรจุโครงการพัฒนา โครงการ และรายการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 จำนวน 21 โครงการ/รายการ
1.3 ให้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 2 แห่ง คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (Debt Service Coverage Ratio : DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 ปรับปรุงครั้งที่ 2 โดยให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการด้วย
1.4 รับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม ที่ปรับลดสุทธิ 35,794.42 ล้านบาท จากเดิม 1,536,957.98 ล้านบาท เป็น 1,501,163.56 ล้านบาท
2. อนุมัติการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อการก่อหนี้ใหม่ การกู้มาและการนำไปให้กู้ต่อ การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 และมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดกู้เงินโควิด 19ฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) รวมทั้งขออนุมัติการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนา และการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้กรอบวงเงินของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 ปรับปรุงครั้งที่ 2 และให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้พิจารณาการ กู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละ ครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ทั้งนี้ หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เองก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
3. มอบหมายให้ รฟท. รับข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ โดยให้ รฟท. รายงานผลการดำเนินการของ บริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ต่อคณะกรรมการ รฟท. และคณะกรรมการฯ เป็นระยะ
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการฯ) ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 ส่งผลให้วงเงินแผนการก่อหนี้ใหม่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 49,619.73 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิมปรับลดสุทธิ 35,794.42 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,035.29 ล้านบาท และ โดยมีสาระสำคัญของการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้ เช่น (1) การกู้เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง (2) การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) เพื่อบริหารความเสี่ยงวงเงินกู้ต่างประเทศที่คาดว่าจะลงนามสัญญา และ/หรือรองรับการระดมทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นภายในงบประมาณ 2565 จำนวน 29,345 ล้านบาท และ (3) การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาและเพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรับเพิ่มวงเงินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงบางชื่อ - ตลิ่งชัน (ระบบไฟฟ้า เครื่องกล และตู้รถไฟฟ้า) จำนวน 1,660.28 ลบ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรับเพิ่มเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ในปี 2565 - 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท รวมทั้งในครั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการพัฒนา โครงการ และรายการที่จะขอบรรจุเพิ่มเติมและต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 21 โครงการหรือรายการ โดยการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้ ได้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องซึ่งกระทรวงการคลัง (กค.) คาดการณ์ว่าระดับประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภายหลังการปรับปรุงแผนฯ ในครั้งนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 62.76 (กรอบไม่เกินร้อยละ 70)
ทั้งนี้ ระเบียบคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2561 ข้อ 15 (3) กำหนดว่า หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแผนฯ ระหว่างปี กรณีโครงการพัฒนาหรือโครงการที่ไม่ได้บรรจุไว้ในแผนฯ ให้เสนอคณะกรรมการฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ โดยในการปรับปรุงแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 มีโครงการพัฒนา โครงการ และรายการที่ขอบรรจุเพิ่มเติม และต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 21 โครงการ/รายการ สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
โครงการพัฒนา/โครงการ/รายการ |
หน่วยงาน |
แหล่งเงินกู้ |
วงเงิน | |
แผนการก่อหนี้ใหม่ |
||||
1. |
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) |
กค. กู้ต่อให้ รฟม. |
ในประเทศ |
10,873.00 |
2. |
โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาขาณุวรลักษบุรี อำเภอขาณุวรลักษบุรี – คลอง ขลุง จังหวัดกำแพงเพชร |
กปภ. |
11.03 |
|
3. |
โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาพนมสารคาม - บางคล้า - (แปลงยาว) - (คลองนา) - (เทพราช) (รองรับ EEC) อำเภอพนมสารคาม - บางคล้า - แปลงยาว - เมืองฉะเชิงเทรา - บ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา |
6.25 |
||
4. |
โครงการโรงไฟฟ้าบางปะกง (ทดแทนเครื่องที่ 1 - 2) |
กฟผ. |
1,500.00 |
|
5. |
โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า |
300.00 |
||
6. |
โครงการระบบส่งไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ระยะที่ 3 |
3,500.00 |
||
7. |
โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8 - 9 |
2,000.00 |
||
8. |
เงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน |
25,000.00 |
||
9. |
กู้เบิกเกินบัญชีเพื่อสำรองเผื่อสภาพคล่องทางการเงิน |
อ.ส.ค. |
250.00 |
หน่วย : ล้านบาท
โครงการพัฒนา/โครงการ/รายการ |
หน่วยงาน |
แหล่งเงินกู้ |
วงเงิน | |
แผนการบริหารหนี้เดิม |
||||
1. |
พันธบัตรรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 1 |
กค. |
ในประเทศ |
ภายใต้กรอบวงเงินเดิมของการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ ครบกำหนด ในปีงบประมาณ 2566 - 2569 จำนวน 305,000 ล้านบาท |
2. |
พันธบัตรรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 6 |
|||
3. |
พันธบัตรรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 9 |
|||
4. |
พันธบัตรรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ครั้งที่ 21 |
|||
5. |
พันธบัตรรัฐบาล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 13 |
|||
6. |
พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 3 |
|||
7. |
พันธบัตรรัฐบาลเพื่อการบริหารหนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 7 |
|||
8. |
สัญญาเงินกู้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(Japan International Cooperation Agency: JICA) |
ต่างประเทศ |
12,345.00 |
|
9. |
Foreign Currency Bond (USD) |
17,000.00 |
||
10. |
พันธบัตรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555 ครั้งที่ 7 |
กฟผ. |
ในประเทศ |
1,000.00 |
11. |
พันธบัตรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555 ครั้งที่ 11 |
1,000.00 |
||
12. |
พันธบัตรการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2555 ครั้งที่ 12 |
1,000.00 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4451