ขอความเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรั
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 12 April 2022 22:24
- Hits: 2808
ขอความเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศกระทรวงศึกษาธิการแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (ศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ) กระทรวงศึกษาธิการ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (กรอบความร่วมมือฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขและปรับปรุงถ้อยคำของร่างกรอบความร่วมมือฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้ อว. สามารถดำเนินการได้ โดยการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ลงนามในกรอบความร่วมมือฯ ร่วมกับผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ (นายหม่า เจี้ยนเฟย) ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) (เดิม) มีความร่วมมือกับศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยมีผลการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ 1. โครงการครูอาสาสมัครชาวจีน 2. โครงการจัดแข่งขันประกวดสุนทรพจน์และความรู้ภาษาจีนระดับอุดมศึกษา “สะพานสู่จีน” และ 3. โครงการอบรมภาษาจีน (ระยะสั้น)
สำหรับร่างกรอบความร่วมมือฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม การพัฒนาหลักสูตรภาษาจีน และการพัฒนารูปแบบการฝึกอบรมสำหรับครูและอาจารย์ในด้านการสอนภาษาจีนและอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือตามเจตนารมณ์ที่มีร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีกรอบแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือ ดังนี้
1. แผนความร่วมมือด้านภาษาระหว่างมหาวิทยาลัยไทยและจีน มีการดำเนินการดังนี้ (1) โครงการพัฒนาครูผู้สอนภาษาจีนในรูปแบบ 3+1 (ศึกษาในประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี และศึกษาที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 1 ปี) (2) โครงการทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (3) โครงการจีนศึกษาแบบใหม่ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนระยะสั้น
2. แผนความร่วมมือด้านการพัฒนาครูในด้านภาษาจีนและอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี โดยมหาวิทยาลัยไทยและจีนจะดำเนินการร่วมกันในรูปแบบของการจับคู่ความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรภาษาจีน รวมทั้งพัฒนาอาจารย์และครูผู้สอนระดับอาชีวศึกษาในด้านภาษาจีนและอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี
3. การแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์และความสามารถด้านภาษาจีน “สะพานสู่ภาษาจีน” โดย อว. จะทำการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันที่มีความสามารถโดดเด่นเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับโลกในระดับอุดมศึกษา ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน
4. ครูอาสาสมัครสอนภาษาจีน (ครูอาสาสมัครฯ) โดยศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ จะจัดส่งครูอาสาสมัครฯ ไปยังสถาบันอุดมศึกษาภายใต้สังกัด อว. เพื่อสอนภาษาจีนตามความต้องการและสอดคล้องกับสถานการณ์จริง นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการและการประสานงานของครูอาสาสมัครฯ โดยศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ จะรับผิดชอบในการจัดหาครูผู้ประสานงานโครงการฯ ให้ประจำการในประเทศไทยผ่านโครงการต่างๆ และ อว. เป็นฝ่ายสนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการยื่นขอวีซ่าทำงานสำหรับครูผู้ประสานงานโครงการฯ
5. การใช้ผลสอบวัดระดับความรู้ภาษาจีน (Hanyu Shuiping Kaoshi: HSK) เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการทดสอบระดับภาษาจีนของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะส่งเสริมให้มีการพิจารณาใช้ผลสอบ HSK เป็นส่วนหนึ่งสำหรับการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเอกภาษาจีนในมหาวิทยาลัยไทย เพื่อยกระดับการเรียนการสอนภาษาจีนของไทย
6. ทุนสนับสนุนแปลงานวิจัย โดยสนับสนุนให้นักวิชาการไทยเข้าร่วมโครงการจีนศึกษาแบบใหม่ของศูนย์ความร่วมมือด้านภาษาจีนฯ เพื่อตีพิมพ์หรือแปลผลงานทางวิชาการและวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก
7. การจัดฝึกอบรมหลักสูตรภาษาจีนสำหรับบุคลากรของ อว. เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาจีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาจีน
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือฯ จะมีผลนับตั้งแต่วันที่ทั้ง 2 ฝ่ายลงนาม โดยจะมีอายุ 5 ปี และขยายระยะเวลาออกไปอีก 5 ปีโดยอัตโนมัติ เว้นแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 12 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4440