โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 (ดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 - 2570)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 April 2022 23:14
- Hits: 4311
โครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 (ดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 - 2570)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 – 2570 (ดำเนินการต่อเนื่องในระยะที่ 2 พ.ศ. 2565 - 2570) (โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2) ภายในกรอบวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 50,608.40 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) งบดำเนินการในการผลิตบัณฑิต ในอัตรา 300,000 บาท/ปี/คน หรือ 1,800,000 บาท/คน รวมจำนวน 23,972.40 ล้านบาท (2) งบลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ ในอัตรา 2,000,000 บาท/คน รวมจำนวน 26,636 ล้านบาท โดยผูกพันงบประมาณจนนักศึกษาแพทย์รุ่นสุดท้ายจบการศึกษาในปีการศึกษา 2576 เพื่อผลิตแพทย์ จำนวน 13,318 คน ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ เห็นควรให้ อว. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมทั้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความพร้อม ความจำเป็น และความเหมาะสมที่จะต้องใช้จ่ายในแต่ละปีงบประมาณ รวมทั้งพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 1 โดยผลการดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 1 ใน 3 ปีแรก (พ.ศ. 2561 - 2563) สามารถรับนักศึกษาแพทย์เข้ามาในระบบได้ จำนวน 5,938 คน (ร้อยละ 88 ของเป้าหมายการรับนักศึกษาในปี พ.ศ. 2561 - 2563 จำนวน 6,780 คน) นอกจากนี้ ความคืบหน้าการดำเนินงานเพิ่มเติมของโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 1 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 ประเด็นคุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการ ดังนี้
1.1.1 การผลิตแพทย์เพื่อรองรับระบบสุขภาพได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดการกระจายแพทย์ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยอาศัยกระบวนการคู่สัญญา ซึ่งนักศึกษาแพทย์เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนในสถานที่ปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการจัดสรรแพทย์เป็นผู้กำหนด แต่เนื่องจากปัจจุบันส่วนราชการ/หน่วยงานอื่นๆ นอกสังกัด สธ. ส่งตัวนักศึกษาแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาที่สอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมไม่ผ่านคืนมาปฏิบัติงานชดใช้ทุนในหน่วยงานสังกัด สธ. ในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น1 ทำให้ สธ. สูญเสียโอกาสในการบรรจุอัตรากำลังจากสาขาอาชีพอื่น และไม่มีตำแหน่งดังกล่าวเพียงพอในการบรรจุนักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 เห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2513 เรื่อง การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ ตามที่ สธ. เสนอ โดยปรับปรุงคุณสมบัติของนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ที่เข้าปฏิบัติงานชดใช้ทุน ดังนี้
เดิม |
ที่ปรับปรุงใหม่ |
|
นักศึกษาทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแล้วจะต้องทำงานให้แก่ราชการเป็นเวลา 3 ปี |
นักศึกษาทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงจัดสรรให้ไปปฏิบัติงานชดใช้ทุนและต้องทำงานให้แก่ราชการเป็นเวลา 3 ปี |
[อว. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า สธ. ได้ดำเนินการแก้ไขเอกสารสัญญาเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นและเสนอเอกสารสัญญาดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาจาก อส.]
1.1.2 คณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2561 เห็นควรเพิ่มค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาที่ผิดสัญญาจากเดิม 400,000 บาท เป็นจำนวน 2,500,000 บาท เนื่องจากค่าปรับ 400,000 บาท ได้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เมื่อเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันจึงนับว่าน้อยมาก ประกอบกับรัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุนในการผลิตนักศึกษาแพทย์หนึ่งคน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,800,000 บาท (ปัจจุบันอยู่ระหว่าง สธ. ดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป)
1.2 ประเด็นการแก้ไขปัญหาเรื่อง การกระจายกำลังคนในพื้นที่ต่างๆ และการธำรงรักษาแพทย์ไว้ในระบบราชการ สธ. มีการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
1.2.1 การวางแผนกำลังคนให้มีแพทย์เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละพื้นที่ โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปกำลังคนและภารกิจบริการด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งระบบ และยุทธศาสตร์การจัดตั้งเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์และสถาบันการศึกษา ต่างๆ ในภาพรวมของประเทศในระยะยาว (5 – 10 ปี) รวมถึงมีระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการบุคลากรสาธารณสุขที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
1.2.2 การจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาที่ต้องชดใช้ทุนกับ สธ. มีแนวทาง ดังนี้
(1) กลุ่มแพทย์ทั่วไป จัดสรรให้ตามความขาดแคลนแพทย์รายจังหวัดในรูปแบบการบริหารของเขตสุขภาพ2
(2) กลุ่มแพทย์โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทจัดสรรตามภูมิลำเนาในสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์และตามความขาดแคลนของจังหวัดในเขตสุขภาพทั้งนี้ การจัดสรรแพทย์ของแต่ละโรงพยาบาลต้องไม่เกินศักยภาพที่แพทยสภาประเมินรับรองการเป็นสถาบันเพิ่มพูนทักษะ3
1.2.3 การพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยเปิดโอกาสให้ได้พัฒนาความรู้ความสามารถและสนับสนุนให้เข้าร่วมอบรมฟื้นฟูด้านวิชาการทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลขณะปฏิบัติงาน ซึ่งจะมีการสำรวจความต้องการการฝึกอบรมและพัฒนาในทุกๆ ปี เพื่อให้ตรงตามความต้องการของบุคลากร
1.2.4 การดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแบบออนไลน์ เพื่อให้แพทย์ที่ยังสอบไม่ผ่านใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความรู้ทางวิชาการที่เหมาะสมสำหรับเตรียมการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
1.2.5 การสนับสนุนการดำเนินโครงการเพิ่มพูนทักษะของแพทยสภา โดยการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเพิ่มพูนทักษะที่อยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) และสนับสนุนด้านวิชาการแก่โรงพยาบาลเพิ่มพูนทักษะในเขตสุขภาพนั้นๆ นอกจากนี้ ได้มีการจัดสรรทุนแพทย์ประจำบ้านในทุกสาขาและอนุสาขาของแพทยสภาเพื่อพัฒนาให้เป็นแพทย์เชี่ยวชาญตามความต้องการของการบริการของเขตสุขภาพและระบบสุขภาพของประเทศ
1.3 ประเด็นการกำหนดแนวทางความร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลิตบุคลากรสาขาแพทย์และสาขาวิชาชีพอื่นที่ยังขาดแคลน รวมทั้งสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ของประเทศ สธ. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเอกชนในการกำหนดแนวทางและมาตรการให้โรงพยาบาลในสังกัด สป.สธ. เป็นโรงพยาบาลในการจัดการเรียนการสอนของศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก4 โดยมีการดำเนินการแล้ว ได้แก่ มหาวิทยาลัยสยามร่วมกับโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นร่วมกับโรงพยาบาลกำแพงเพชรและอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลเลิดสิน
2. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ได้ให้ความเห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 กรอบวงเงินงบประมาณ 50,608.40 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์ ตลอดจนขยายศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อตอบสนองความต้องการด้านบริการสุขภาพของประชาชนที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) พ.ศ. 2560 - 2579 ของ สธ. ในครั้งนี้ อว. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการและกรอบวงเงินงบประมาณโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
1. หลักการและเหตุผล |
- ในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีแพทย์ จำนวน 39,156 คน คิดเป็นอัตราแพทย์ต่อประชากรไทย 1 : 1,674 คน (ข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ.) ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่ สธ. ตั้งเป้าหมายอัตราแพทย์ต่อประชากรไทยไว้ที่ 1 : 1,200 คน และในภาพรวมยังต่ำกว่ามาเลเซีย (1 : 651) และสาธารณรัฐสิงคโปร์ (1 : 436) ทั้งนี้ สธ. ได้ศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการบริการและกำลังคนด้านสาธารณสุขของประเทศในอนาคต พบว่า ในปี พ.ศ. 2570 ประเทศไทยควรจะมีบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 56,648 คน คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรไทยเท่ากับ 1 : 1,209 คน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ สธ. กำหนดไว้ - การจัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 จะเน้นการพัฒนาหลักสูตรโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการผลิต เนื่องจากทรัพยากรที่ทำให้เกิดการเรียนการสอนมีอยู่อย่างจำกัดโดยเฉพาะความซับซ้อนของการเจ็บป่วยและรูปแบบของการดูแลรักษาที่มีความแตกต่างกัน การจัดการเรียนโดยใช้โรงพยาบาลชุมชนเป็นฐาน จึงสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทที่นักศึกษาแพทย์จะคงอยู่ในชุมชน |
|
2. วัตถุประสงค์ |
- ผลิตแพทย์เพิ่มให้สามารถรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยในทุกภาคส่วน รวมทั้งรองรับสังคมผู้สูงอายุและความซับซ้อนของโรคในอนาคต - แก้ไขและบรรเทาปัญหาการกระจายแพทย์สู่ชนบท การสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ และการธำรงแพทย์ให้สามารถอยู่ในระบบ - พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันผลิตแพทย์ที่ตรงกับความจำเป็นในแต่ละพื้นที่ - เพิ่มขีดความสามารถในการรับและจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ที่ตรงกับความต้องการของสถาบัน ความต้องการของพื้นที่ที่สถาบันผลิตแพทย์รับผิดชอบและความต้องการของประเทศ - ลดปัญหาความขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกัน |
|
3. เป้าหมายของโครงการ |
- อัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรในภาพรวมเท่ากับ 1 : 1,200 ภายในปีการศึกษา 2576 (เมื่อนักศึกษาแพทย์ที่ผลิตเพิ่มรุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษา) - มีการผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน 13,318 คน ในช่วงปี 2565 – 2570 ผ่าน 2 โครงการย่อย ได้แก่ (1) โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 ภายใต้ความรับผิดชอบของ อว.5 ผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน 6,586 คน งบประมาณรวม 25,026.80 ล้านบาท (2) โครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ระยะที่ 2 ภายใต้ความรับผิดชอบของ สธ.6 ผลิตแพทย์เพิ่ม จำนวน 6,732 คน งบประมาณรวม 25,581.60 ล้านบาท จากแผนรับนักศึกษาแพทย์ปกติซึ่งผลิตได้ 6,770 คน รวมเป็นการผลิตในภาพรวม 20,088 คน |
|
4. ระยะเวลาดำเนินการ |
ปีการศึกษา 2565 - 2570 และดำเนินการจัดการเรียนการสอนต่อเนื่องจนนักศึกษารุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2576 |
|
5. กรอบวงเงินงบประมาณ |
50,608.40 ล้านบาท คิดเป็นอัตรา 3,800,000 บาท/คน แบ่งเป็น (1) งบดำเนินการในการผลิตบัณฑิต ในอัตรา 300,00 บาท/ปี/คน หรือ 1,800,000 บาท/คน รวมจำนวน 23,972.40 ล้านบาท (2) งบลงทุนเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์ในอัตรา 2,000,000 บาท/คน รวมจำนวน 26,636 ล้านบาทโดยเฉลี่ยการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปีตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2570 ต่อเนื่องจนนักศึกษารุ่นสุดท้ายสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2576 |
|
6. การรับนักเรียนเข้าศึกษา (ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ของ สธ.) |
แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ เป็นการรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในพื้นที่ชายขอบ พื้นที่ขาดแคลน หรือนักเรียนที่มีภูมิลำเนาไม่อยู่ในเขตอำเภอเมือง ทั้งนี้ เพื่อทดแทนการรับนักเรียนตามโครงการกระจายแพทย์ 1 อำเภอ 1 ทุน ซึ่งสิ้นสุดการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2560 (2) กลุ่มสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เน้นการรับข้าราชการสังกัด สป.สธ. ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เนื่องจากพบว่า มีอัตราการคงอยู่ปฏิบัติงานใน สธ. สูงกว่าการรับนักเรียนมัธยม (3) กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน เป็นการรับนักเรียนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักเกณฑ์การรับเดิมของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทที่ สธ. และมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือได้กำหนดร่วมกันและมีการรับเข้าตามภูมิลำเนา และคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยประกาศ ทั้งนี้ สธ. และมหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือได้มีการกำหนดโควตาและพื้นที่การรับนักเรียนเพื่อเข้าศึกษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วต้องกลับไปปฏิบัติงานในจังหวัดภูมิลำเนาหรือเขตสุขภาพที่ สธ. มีคำสั่งต่อไป |
|
7. หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
- อว. (สถาบันผลิตแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ) - สป.สธ. (สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท) - กห. (วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า) - สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร (คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช) |
|
8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
- จำนวนแพทย์เพิ่มขึ้น ลดปัญหาความขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์ที่ไม่เท่าเทียมกันของประเทศ - ดำรงมาตรฐานการผลิตแพทย์ตามเกณฑ์มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่กำหนดโดยแพทยสภา - เพิ่มศักยภาพในการผลิตแพทย์ที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ที่สถาบันผลิตแพทย์รับผิดชอบและความต้องการของประเทศ |
|
9. ตัวชี้วัดโครงการ |
- ผลิตแพทย์ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดและสามารถจัดสรรแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาไปปฏิบัติงานตามพื้นที่ที่ขาดแคลนให้คงอยู่ในพื้นที่ได้อย่างยาวนาน - โครงสร้างพื้นฐานของสถาบันผลิตแพทย์ได้รับการพัฒนาเพื่อให้สามารถผลิตแพทย์ได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน - สัดส่วนแพทย์ต่อประชากรลดลง ทั้งรายเขตสุขภาพและภาพรวมของประเทศ - อัตราการบรรจุเข้ารับราชการและปฏิบัติงานในหน่วยงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ลดการขาดแคลนแพทย์ในภูมิภาคและเกิดการกระจายแพทย์สู่ชนบทอย่างเป็นธรรม - เกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โรงเรียนแพทย์/โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยได้รับการต่อยอดและมีสมรรถนะในการแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติมากขึ้น |
|
10. การติดตามและประเมิน ผล |
หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการจะร่วมกันติดตามผลการรับนักศึกษาแพทย์และจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในแต่ละปี เปรียบเทียบกับเป้าหมาย รวมทั้งติดตามผลการจัดสรรแพทย์ผู้สำเร็จการศึกษาไปปฏิบัติงานตามพื้นที่ที่ขาดแคลน เพื่อประเมินว่าการดำเนินงานสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในภูมิภาค การกระจายแพทย์สู่ชนบท และสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่ลดลง โดยจะนำผลการติดตามและประเมินผลโครงการไปใช้ในการปรับโครงการให้เกิดความเหมาะสม คุ้มค่า ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป |
__________________
1ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2564 มีผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตเฉลี่ยปีละ 2,625 คน โดยมีผู้ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 171 คน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 231 คน และปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 299 คน
2เขตสุขภาพ (Regional Health) เป็นระบบการบริหารงานส่วนกลางในภูมิภาค โดยการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขลงไปในระดับพื้นที่ตามกรอบการบริหารของ สธ. เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการในทุกระดับอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยปัจจุบันได้มีการแบ่งเขตสุขภาพออกเป็น 13 เขต (รวมกรุงเทพมหานคร) แต่ละเขตสุขภาพจะครอบคลุม 4 - 8 จังหวัด ประชากรประมาณ 3 - 6 ล้านคน
3โรงพยาบาลที่แพทยสภาประกาศรับรองให้เป็นสถาบันปฏิบัติงานเพิ่มพูนทักษะจะต้องมีระบบการให้บริการที่เอื้อต่อการให้ความรู้แก่แพทย์ใช้ทุนได้ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยจะเชื่อมโยงกับการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนไปยังโรงพยาบาลต่างๆ หากโรงพยาบาลใดไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนดอาจจะไม่ได้รับแพทย์ใช้ทุนไปปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นผลทำให้สถานบริการทางแพทย์ส่วนภูมิภาคมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้ป่วยและมีการจัดสวัสดิการทางการแพทย์ต่างๆ ดีขึ้น
4การจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปรีคลินิก (ชั้นปีที่ 1 – 3) จะทำการเรียนการสอนที่คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนในระดับชั้นคลินิก (ชั้นปีที่ 4 - 6) จะมีการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกขึ้นในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อบริหารและจัดการเรียนการสอนนิสิตนักศึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้เป็นหน่วยงานหนึ่งของโรงพยาบาลนั้นๆ
5ผลิตแพทย์ผ่านโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย รมถึงโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม (กห.) และสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร
6ผลิตแพทย์ผ่านโรงพยาบาลในสังกัด สธ.
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4215