การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้แก่ส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 April 2022 22:26
- Hits: 2970
การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้แก่ส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เสนอ ดังนี้
1. จัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้แก่ส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. สำนักนายกรัฐมนตรี รวม 203 อัตรา ตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 มีมติเห็นชอบแล้ว ได้แก่
1.1 กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม (คค.) รวม 45 อัตรา
1.2 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รวม 45 อัตรา
1.3 กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รวม 45 อัตรา
1.4 กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง (กค.) รวม 45 อัตรา
1.5 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน (รง.) รวม 23 อัตรา
2. การดำเนินการตามข้อ 1 ให้กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมศุลกากร และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการ ดังนี้
2.1 เสนอคณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวง (อ.ก.พ. กระทรวง เพื่อจัดแบ่งงานภายในส่วนราชการกำหนด “กลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำ ศรชล.” สังกัดส่วนกลาง โดยรับผิดชอบรายงานตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการและกำหนดตำแหน่งในกลุ่มงานดังกล่าว เป็น “กรอบอัตรากำลังแทนประจำกรม” เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งอัตรากำลังแทนระหว่างที่ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล.
2.2 กำหนดเงื่อนไขไม่ให้นำตำแหน่งดังกล่าวไปใช้ในภารกิจอื่นและไม่ใช้เพื่อเลื่อนระดับตำแหน่งหรือปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นระดับสูงขึ้น รวมทั้งไม่ให้นำไปใช้สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลในลักษณะเดียวกันกับกรอบอัตรากำลังปกติของส่วนราชการ และเมื่อหมดความจำเป็นตามภารกิจแล้วให้ยุบเลิกกรอบอัตรากำลังแทนประจำกรมดังกล่าว ทั้งนี้ ให้จัดเลขที่ตำแหน่งเรียงต่อจากตำแหน่งเลขที่สุดท้ายของกรมและจัดทำหนังสือขอกำหนดกรอบอัตราข้าราชการตั้ง (กรอบอัตรากำลังแทนประจำกรม) เสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
2.3 นำตัวชี้วัดร่วม (joint KPIs) ตามที่ อ.ก.พ. กระทรวงมีมติเห็นชอบแล้วเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปีของส่วนราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง และให้รายงานผลการดำเนินการตามคำรับรองฯ ให้ คปร. และ ก.พ. ทราบด้วย อย่างไรก็ดี ควรประสานงานกับ ศรชล. เพื่อวางระบบการติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินการประจำปีอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
2.4 การจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับอัตราข้าราชการตั้งใหม่ดังกล่าวให้ส่วนราชการขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) และดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สงป. กำหนด
ทั้งนี้ ให้ ศรชล. เตรียมความพร้อมในการจัดทำตัวชี้วัดร่วม (Joint KPIs) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ด้วย
3. จัดสรรอัตราข้าราชการทหารตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้แก่กองทัพเรือ (ทร.) กระทรวงกลาโหม (กห.) ที่ส่งข้าราชการทหารไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. สำนักนายกรัฐมนตรี รวม 652 อัตรา ตามที่สภากลาโหม ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีมติเห็นชอบแล้ว
4. สำหรับการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของส่วนราชการทั้ง 5 ส่วนราชการ (ตามข้อ 1) จำนวน 90,530,880 บาทต่อปี และ ทร. จำนวน 317,409,720 บาทต่อปี เห็นควรให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ สงป. กำหนด
สาระสำคัญของเรื่อง
ศรชล. รายงานว่า
1. ศรชล. จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 มีฐานะเป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีภารกิจและขอบเขตความรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มีลักษณะโครงสร้างแบบผสมผสานและการทำงานแบบเครือข่าย (Networking) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการบริหารงานแบบบูรณาการที่มีเป้าหมายการดำเนินการร่วมกันทั้งในเชิงภารกิจและเชิงพื้นที่ ซึ่งตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. ตามที่ผู้อำนวยการ ศรชล. ร้องขอ (ระยะเวลาการหมุนเวียนคราวละ 1 - 2 ปี) และให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลหรือองค์กรอื่นที่มีหน้าที่และอำนาจทำนองเดียวกันของหน่วยงานของรัฐนั้น จัดให้มีอัตรากำลังแทนให้หน่วยงานของรัฐนั้นตามความจำเป็นแต่ไม่เกินจำนวนอัตรากำลังที่จัดส่งไป โดยอาจจัดเป็นรายอัตราหรือเป็นหน่วยก็ได้ ทั้งนี้ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราที่ได้รับอยู่เดิมต่อไป สำหรับสิทธิประโยชน์อื่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
2. โดยที่ภารกิจของ ศรชล. เป็นภารกิจที่ต้องปฏิบัติงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ ประชาชน ชาวต่างชาติ ยานพาหนะทางเรือจากประเทศต่างๆ ที่เข้ามาในน่านน้ำไทย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำกับ ติดตาม และเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายในน่านน้ำไทย โดย ศรชล. ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วเห็นว่า ภารกิจดังกล่าวเป็นภารกิจที่ต้องใช้อำนาจหน้าที่ของพนักงานตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องใช้ข้าราชการเป็นผู้ปฏิบัติงาน
3. คณะกรรมการต่างๆ ได้พิจารณากำหนดอัตรากำลังแทนของส่วนราชการ สรุปได้ ดังนี้
3.1 ข้าราชการพลเรือน คปร. ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตราแทนให้กับส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. รวมทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน จำนวน 203 อัตรา โดยให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการตามข้อ 2 ด้วย
3.2 ข้าราชการทหาร สภากลาโหม ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติเห็นชอบกรอบอัตรากำลังแทนของ ทร. เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. จำนวน 652 อัตรา
3.3 ข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 มีมติอนุมัติกำหนดตำแหน่งข้าราชการตำรวจประจำกองบังคับการตำรวจน้ำ รวม 47 อัตรา เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล.
4. การจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่เพื่อนำไปกำหนดเป็นอัตรากำลังแทนให้กับส่วนราชการที่ส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. จำนวน 6 หน่วยงาน รวม 855 อัตรา จะมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รวมทั้งสิ้น 407,940,600 บาทต่อปี จำแนกเป็น (1) ส่วนราชการทั้ง 5 แห่ง จำนวน 90,530,880 บาทต่อปี และ (2) ทร. จำนวน 317,409,720 บาทต่อปี (เงินเดือนข้าราชการ 285,739,320 บาทต่อปี และเงินตำแหน่งและเงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่งจำนวน 31,670,400 บาทต่อปี)
ส่วนราชการ |
อัตรา |
ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น (บาทต่อปี) |
ข้าราชการพลเรือน (5 ส่วนราชการ) |
||
1. กรมเจ้าท่า (คค.) |
45 |
20,289,480 |
2. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทส.) |
45 |
20,289,480 |
3. กรมประมง (กษ.) |
45 |
20,289,480 |
4. กรมศุลกากร (กค.) |
45 |
20,289,480 |
5. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (รง.) |
23 |
9,372,960 |
รวมค่าใช้จ่าย 5 ส่วนราชการ |
203 |
90,530,880 |
ข้าราชการทหาร |
||
- ทร. (กห.) |
652 |
317,409,720 |
รวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น |
855 |
407,940,600 |
ทั้งนี้ เงินงบประมาณที่เพิ่มขึ้นจัดเป็นงบรายจ่ายประจำของส่วนราชการตามมาตรา 20 (2) แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยจะผูกพันค่าใช้จ่ายในระยะยาวตามความจำเป็นของภารกิจของแต่ละส่วนราชการ
5. ศรชล. แจ้งว่า ภายหลังจากที่ได้รับจัดสรรอัตรากำลังแทนจะดำเนินการดังนี้
5.1 เสนอ อ.ก.พ. กระทรวงเพื่อจัดแบ่งงานภายในส่วนราชการกำหนด “กลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำ ศรชล.” สังกัดส่วนกลาง โดยรับผิดชอบรายงานตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการและกำหนดตำแหน่งในกลุ่มงานดังกล่าว เป็น “กรอบอัตรากำลังแทนประจำกรม” เพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งอัตรากำลังแทนระหว่างที่ไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล.
5.2 กำหนดเงื่อนไขไม่ให้ตำแหน่งดังกล่าวไปใช้ในภารกิจอื่นและไม่ใช้เพื่อเลื่อนระดับตำแหน่งหรือปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งเป็นระดับสูงขึ้น รวมทั้งไม่ให้นำไปใช้สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลในลักษณะเดียวกันกับกรอบอัตรากำลังปกติของส่วนราชการ และเมื่อหมดความจำเป็นตามภารกิจแล้วให้ยุบเลิกกรอบอัตรากำลังแทนประจำกรมดังกล่าว ทั้งนี้ ให้จัดเลขที่ตำแหน่งเรียงต่อจากตำแหน่งเลขที่สุดท้ายของกรมและจัดทำหนังสือขอกำหนดกรอบอัตราข้าราชการตั้งใหม่ (กรอบอัตรากำลังแทนประจำกรม) เสนอ ก.พ. ให้ความเห็นชอบต่อไป
6. เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้านการสร้างความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล รวมทั้งการจัดอัตรากำลังเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของ ศรชล. สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ. 2562 รวมทั้งเพื่อให้ส่วนราชการสามารถส่งข้าราชการไปปฏิบัติหน้าที่ใน ศรชล. ได้อย่างเต็มกำลัง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการบริหารราชการ เกิดความคล่องตัวในการบริหารตำแหน่งว่างในระหว่างที่ส่งข้าราชการไปช่วยปฏิบัติหน้าที่และสามารถนำตำแหน่งว่างไปใช้ประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4212