ร่างยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ พ.ศ. 2565 - 2570
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 April 2022 22:14
- Hits: 4673
ร่างยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ พ.ศ. 2565 - 2570
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ เพื่อเป็นกรอบและกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินการรักษาจริยธรรมและส่งเสริมพัฒนาจริยธรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรกลางบริหารงานบุคคล (ตามมาตรา 3 และมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562) องค์กรที่มีหน้าที่จัดทำประมวลจริยธรรมและหน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนมาตรฐานทางจริยธรรมให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ
2. ให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีการจัดทำแผนงาน มาตรการ เพื่อส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรักษาจริยธรรมตามมาตรฐานทางจริยธรรม ประมวลจริยธรรม และข้อกำหนดจริยธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคม - วัฒนธรรมทางจริยธรรมของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนดี มีความสามารถ และมีคุณธรรม พร้อมเป็นกลไกการปฏิรูปประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยที่บริหารประเทศโดยยึดหลักซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณธรรมสูงสุดเพื่อการมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ บัญญัติให้มีคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม (ก.ม.จ.) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรภาครัฐให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี มีการประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ยึดหลัก “ภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม” ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคส่วนต่างๆ และยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทยที่บริหารประเทศโดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณธรรมสูงสุดเพื่อการมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
2. ร่างยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรมและการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ก.ม.จ. และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วิสัยทัศน์ |
เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจได้ |
พันธกิจ |
สร้างสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐและเน้นย้ำภาพลักษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นคนดี มีความสามารถ และมีคุณธรรม เพื่อให้ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนและความไว้วางใจในระดับนานาชาติ |
เป้าหมาย |
ยกระดับตัวชี้วัดนานาชาติและตัวชี้วัดระดับชาติที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐและตัวชี้วัดด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของการดำเนินงานภาครัฐของประเทศไทย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนด้านมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อยกระดับการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ |
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อเป็นกรอบและกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินการรักษาจริยธรรมและส่งเสริมพัฒนาจริยธรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยองค์กรกลางบริหารงานบุคคลและหน่วยงานของรัฐใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมจริยธรรม ภายในระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2565 - 2570 ) (2) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบราชการและองค์กรภาครัฐให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการพัฒนาชาติระยะยาวตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติและงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ |
ตัวชี้วัด ตามเป้าหมาย |
(1) คะแนนด้านธรรมาภิบาลองค์กร (Governance Index Rank) ของ Bertelsmann Foundation Transformation Index (BF-TI) ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านธรรมาภิบาลองค์กรของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากค่าคะแนน 4.04 ในปี 2563 เป็น 6.00 ในปี 2570 (2) คะแนนระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (The Global Competitiveness Index) ในด้านสภาพแวดล้อมหน่วยงานของ World Economic Forum (WEF) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (54.8 คะแนน) (3) อันดับความสามารถในการแข่งขันในส่วนของประสิทธิภาพภาครัฐ (Government Efficiency) ของ IMD World Competitiveness Center สูงขึ้นจากปี 2563 (อันดับที่ 23 จาก 63 ประเทศ) (4) คะแนนผลการประเมินตัวชี้วัดการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) หน่วยงานของรัฐไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 (ไม่ต่ำกว่าเดิมหรือสูงขึ้นทุกปี) |
ประเด็นท้าทาย เชิงกลยุทธ์ |
(1) ไม่มีข้อยกเว้น สร้างมาตรฐานทางจริยธรรมให้มีมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทโดยไม่มีข้อยกเว้น (2) ไม่มีข้อกังขา สร้างความพร้อมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางจริยธรรม โดยไม่มีข้อกังขาหรือตั้งคำถามกับการดำเนินงาน โดยใช้จริยธรรมเป็นหลังพิงหรือหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจและการประพฤติปฏิบัติตนแทนการใช้ดุลพินิจในกรณีที่ไม่มีกฎข้อบังคับมาชี้ขาดเพื่อลดพฤติกรรมสีเทา (3) ไม่สูญเปล่า สร้างระบบการบริหารงานบุคคลที่คำนึงถึงหลักทางจริยธรรม โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความประพฤติตามมาตรฐานทางจริยธรรมควรจะได้รับการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ให้ความพยายามนั้นสูญเปล่า และไม่ปล่อยให้มีที่ยืนสำหรับการกระทำผิดทางจริยธรรมปรากฏอยู่ในระบบการทำงานภาครัฐ ร่วมมือผลักดันให้เกิดการปฏิบัติสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสร้างภาพลักษณ์บุคลากรภาครัฐไทยที่เป็นคนดี |
ยุทธศาสตร์ |
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมภายในหน่วยงานของรัฐ โดยนำมาตรฐานทางจริยธรรมและประมวลจริยธรรมมาเป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติด้านจริยธรรมในองค์กรให้ชัดเจน และการให้ความสำคัญในการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมให้มีมาตรฐานเดียวกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ครอบคลุมทุกหน่วยงานทั้งในระดับรัฐบาล ส่วนราชการ ท้องถิ่น และองค์กร โดย “ไม่มีข้อยกเว้น” และสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและข้อขัดแย้งที่เกิดจากคุณค่าทางจริยธรมที่แตกต่างกัน เพื่อให้ “ไม่มีข้อกังขา” โดยใช้มาตรฐานทางจริยธรรมเป็นหลังพิง หรือหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจและการประพฤติปฏิบัติตนแทนการใช้ดุลยพินิจ ในกรณีที่ไม่มีกฎข้อบังคับมาชี้ขาด เพื่อลดพฤติกรรมสีเทา และเพื่อสร้างความพร้อมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางจริยธรรม |
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผลักดันนโยบายและระบบบริหารการส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรมภาครัฐให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานและทุกระดับ โดยมุ่งเน้นพัฒนานโยบายส่งเสริมมาตรฐานทางจริยธรรม เตรียมความพร้อมและความร่วมมือในการร่วมบริหารงานภาครัฐอย่างมีจริยธรรม โดย “ไม่มีข้อกังขา” หรือตั้งคำถามอันเป็นการพัฒนากลไกการส่งเสริมจริยธรรมทั้งที่มีอยู่เดิมและที่ตั้งขึ้นมาใหม่ให้สามารถขับเคลื่อนทำงานได้อย่างสอดคล้องกันและมีประสิทธิภาพ |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการนำมาตรฐานทางจริยธรรม1ไปใช้ในการบริหารงานบุคคล โดยคำนึงถึงหลักทางจริยธรรม แบบ “ไม่มีข้อกังขา” และใช้จริยธรรมเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจและการประพฤติปฏิบัติตน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความประพฤติที่ดี มีการรักษาจริยธรรม ควรจะได้รับการสนับสนนุในรูปแบบต่างๆ “ไม่ให้ความพยายามนั้นสูญเปล่า” รวมทั้งพัฒนาระบบเครื่องมือต่างๆ ที่เอื้อให้มีการนำจริยธรรมไปใช้ในการบริหารงานบุคคลทั้งระบบ |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การรวมพลังทุกภาคส่วนในการสร้างสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรม การส่งเสริมจริยธรรมตามหลักจริยธรรม ไม่ควรมองข้ามการเสริมสร้างขีดความสามารถทางจริยธรรมของข้าราชการและกลไกการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อสนับสนุนจรรยาบรรณวิชาชีพที่จะต้องมีการใช้เทคนิคใหม่เพื่อสร้างการตัดสินใจเชิงจริยธรรมที่จะส่งเสริมการสร้าง “วัฒนธรรมจริยธรรม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังเพื่อให้เกิดขึ้นและเหมาะสมกับความต้องการในสังคมไทย ผลักดันให้เกิดการปฏิวัติสังคม-วัฒนธรรมทางจริยธรรมในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐ สร้างกลไกและเครือข่ายให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ กดดันไม่ให้มีการกระทำฝ่าฝืนจริยธรรมเกิดขึ้น รวมทั้งไม่ปล่อยให้มีที่ยืนสำหรับผู้กระทำผิด |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและเสริมสร้างทัศนคติเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมและการกระทำผิด การส่งเสริมให้คนไทยมีจิตสาธารณะและมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมภาครัฐ ควรมีการสื่อสารและการรณรงค์ด้วยแนวทางใหม่ ใช้เทคโนโลยีสื่อสารอย่างชาญฉลาดควบคู่กับการผลักดันจริยธรรม ใช้การสื่อสารและการรณรงค์สร้างความรู้ ความสำเร็จ และความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรม การขับเคลื่อนจริยธรรมภาครัฐในระยะต่อไปจะต้องรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ และเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการทำผิดจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีเพียงการกระทำที่ผิดหรือถูกเท่านั้น โดย “ไม่มีข้อกังขา” หรือตั้งคำถามกับการดำเนินงานและต้อง “ไม่สูญเปล่า” โดยไม่ยอมรับการกระทำผิดสีเทาอีกต่อไป |
3. แนวทางการส่งเสริมจริยธรรมและรูปแบบการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
3.1 การดำเนินการที่สามารถดำเนินการได้ทันทีและสร้างผลกระทบสูง (Quick Win) เช่น การจัดทำคู่มือ Dos&Don’ts เพื่อกำหนดพฤติกรรมที่ควรกระทำและไม่ควรกระทำ ซึ่งจะช่วยลดความสับสนเกี่ยวกับพฤติกรรมสีเทา การจัดทำแบบทดสอบแบบประเมินพฤติกรรมทางจริยธรรมสำหรับผู้เข้ารับการคัดเลือกเข้าสู่ระบบราชการ การจัดทำเครื่องมือการประเมินพฤติกรรมการทำงานภายใต้กรอบจริยธรรม การเลือกประเด็นปัญหาทางจริยธรรมที่ใกล้ตัวประชาชนมาทำแคมเปญรณรงค์เพื่อสร้างทัศนคติใหม่แก่สังคมและเจ้าหน้าที่รัฐ
3.2 การดำเนินการในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยใช้กลไกการบริหารจัดการแผนให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) ระดับส่วนกลาง ปรับปรุงกลไกขับเคลื่อนจริยธรรมให้มีประสิทธิภาพ สามารถทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ตามกฎหมาย กำหนดมาตรการ หลักเกณฑ์ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานกลางเพื่อการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และป้องกันการทุจริต (2) ระดับส่วนภูมิภาค ให้สำนักงานจังหวัดส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม มีหน่วยงานทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ส่งเสริมและรับเรื่องร้องเรียนพฤติกรรมล่อแหลม โดยใช้กลไกทางจริยธรรมเป็นกลไกการดำเนินการในเชิงป้องกัน และ (3) ระดับส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดทำข้อกำหนดจริยธรรมของท้องถิ่น คู่มืออธิบาย และกำหนดพฤติกรรมตามมาตรฐานทางจริยธรมกลางเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามและตรวจสอบ
4. แนวทางการติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ
4.1 ตรวจสอบติดตามผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ในแผนที่นำทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ (Roadmap) ทุกระยะ โดยเสนอ ก.ม.จ. และคณะรัฐมนตรีพิจารณา
4.2 ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลจัดทำรายงานการประเมินผลการดำเนินงานตามแบบรายงานประจำปี ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ เพื่อเสนอ ก.ม.จ.
4.3 ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมตามพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรมฯ โดยใช้เครื่องมือประเมินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเด็น ดังนี้ (1) ประเมินผลการดำเนินการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ตามยุทธศาสตร์ฯ เพื่อการกำกับและติดตาม และ (2) ประเมินผลลัพธ์/ผลสำเร็จของการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมตามยุทธศาสตร์ฯ
__________________________
1 มาตรฐานทางจริยธรรม คือ การสร้างมาตรฐานเดียวกันและมีสภาพบังคับทางกฎหมาย มีการกำหนดมาตรการและกลไกในการขับเคลื่อนงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อการเสริมสร้างและรักษาจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4211