ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2564 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 April 2022 21:59
- Hits: 5207
ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2564 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2564 นโยบายของคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ รฟม. พ.ศ. 2543 มาตรา 73 ที่บัญญัติให้ รฟม. ทำรายงานปีละครั้งเสนอคณะรัฐมนตรี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลของงาน ในปีที่ล่วงมาแล้วและคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของคณะกรรมการฯ โครงการและแผนงานที่จะทำในภายหน้า)
สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2564 (ณ วันที่ 30 กันยายน 2564)
1.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มีผลการดำเนินการ ดังนี้
โครงการ |
ผลการดำเนินการ/ความก้าวหน้า |
โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง (3 โครงการ) |
|
(1) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) |
• งานศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 แล้วเสร็จ • งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 89.70 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.44) • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคม 2568 |
(2) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี |
• งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 90.70 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.74) • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2565 |
(3) รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง |
• งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 84.90 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 4.19) • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2565 |
โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา (2 โครงการ) |
|
(1) รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) |
• งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 37.75 (ตามแผน) • งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 9.10 (ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.73) เนื่องจาก รฟม. ได้มีประกาศยกเลิกประกวดราคางานโยธาเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2570 |
(2) รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่ง ประเทศไทย |
• งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 17.80 (ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.20) • งานก่อสร้างงานโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถมีความก้าวหน้า ร้อยละ 5 (ตามแผน) • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2570 |
โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ (4 โครงการ) |
|
(1) รถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต |
• เสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 20 (ตามแผน) • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2569 |
(2) รถไฟฟ้า จังหวัดเชียงใหม่ |
• เสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 24 (ตามแผน) โดยจากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าในระยะเริ่มต้นควรดำเนินการเฉพาะสายสีแดงเพียงเส้นทางเดียว และเห็นควรให้ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าทั้ง 3 ทางเลือก1 ยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571 |
(3) รถไฟฟ้า จังหวัดนครราชสีมา |
• เสนอขอความเห็นชอบรูปแบบการลงทุนฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 20 (ตามแผน) โดยจากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าในระยะเริ่มต้นควรดำเนินการเฉพาะสายสีเขียวเพียงเส้นทางเดียว และเห็นควรให้ระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าทั้ง 4 ทางเลือก2 ยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2571 |
(4) รถไฟฟ้า จังหวัดพิษณุโลก |
• จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) และร่างราคากลางงานจัดจ้างที่ปรึกษาแล้วเสร็จ • คาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2571 |
นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินการอื่นๆ เช่น (1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี อยู่ระหว่างการพิจารณาเอกสารเชิญชวนเพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาและศึกษาทบทวนและปรับปรุงรายละเอียดความเหมาะสม รวมทั้งจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2570 (2) การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้า ดำเนินการแล้วเสร็จ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเทคโนโลยี EMV Contactless3 (Europay, Mastercard, Visa) มาใช้กับระบบตั๋วร่วม โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม EMV Contactless อย่างเป็นทางการในสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม ในปีงบประมาณ 2565
1.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
เส้นทาง |
ผลการดำเนินงาน |
||
ผู้โดยสารเฉลี่ย (คน-เที่ยว/วัน) |
เพิ่มขึ้น/ลดลง จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ร้อยละ) |
ความพึงพอใจ ของผู้ใช้บริการ (ระดับมาก-มากที่สุด) |
|
รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล |
176,413 |
-37.87 |
ร้อยละ 85.92 (เป้าหมายร้อยละ 84.00) |
รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม |
32,752 |
-28.98 |
ร้อยละ 87.11 (เป้าหมายร้อยละ 79.50) |
1.3 ด้านการเงิน รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 1,927.83 ล้านบาท โดยมีรายได้ 16,018.27 ล้านบาท (เงินอุดหนุน 10,434.78 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายรวม 14,090.44 ล้านบาท สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 99.99 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (29 กันยายน 2563) เห็นชอบการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน] นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องจากรถไฟฟ้า มหานครสายเฉลิมรัชมงคล 104.16 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต่ำกว่าเป้าหมาย 33.48 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 24.26 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ต่ำกว่าเป้าหมาย 6.73 ล้านบาท ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ร้อยละ 1.20 (เป้าหมายร้อยละ 0.85) รวมทั้งได้จัดทำรายงานการศึกษาโครงสร้างงบกำไรขาดทุนของ รฟม. เสร็จเรียบร้อยแล้ว
1.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล รฟม. ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยพนักงานร้อยละ 96.90 มีสมรรถนะตามมาตรฐานที่องค์กรกำหนด (เป้าหมายร้อยละ 96.25) และมีระดับความผูกพันเท่ากับ 4.23 (เป้าหมายเท่ากับ 4.16) นอกจากนี้ ได้มีการดำเนินงานตามแผนต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบการสร้างความสัมพันธ์และบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและการดำเนินการตามแผนพัฒนา องค์ความรู้ด้านการบริหารก่อสร้าง การบริหารโครงการ และการจัดซื้อจัดจ้าง
1.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. ได้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการแสดงความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติตามกฎหมายและมีจริยธรรมของผู้นำระดับสูง เช่น การแสดงรายการรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือประโยชน์อื่นใด ตามกรอบเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ในปี 2564 รฟม. มีผลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส การดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) อยู่ในลำดับที่ 8 ของรัฐวิสาหกิจสังกัด คค. เท่ากับ 86.52 คะแนน (ปี 2563 เท่ากับ 88.01 คะแนน)
2. นโยบายของคณะกรรมการฯ เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานและกำกับดูแลการดำเนินงาน เช่น ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา ประหยัด โดยคำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่ม เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่างๆ ให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ตามแผนงาน ศึกษาระบบรถไฟฟ้าในเมืองหลักอื่น ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนากระบวนการทำงานภายในองค์กร รวมทั้งการสื่อสารเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ กับผู้ใช้บริการ ผู้ได้รับผลกระทบ และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ เพื่อให้ได้รับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
3. โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต
3.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 3 โครงการ อยู่ระหว่างการประกวดราคา 2 โครงการ และอยู่ระหว่างศึกษาและวิเคราะห์โครงการซึ่งคาดว่าจะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในปี 2567-2568 จำนวน 5 โครงการ โดยมีเป้าหมายว่าการดำเนินงานจะต้องมีความสำเร็จตามแผนและประชาชนร้อยละ 90 ต้องมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดต่อมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและจราจรจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าฯ นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ระบบตั๋วร่วม โดยจะสามารถเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วม EMV contactless ในรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรมอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2565
3.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ โดยมีเป้าหมายความพึงพอใจของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและบริการเสริมอื่นๆ ในระดับมาก-มากที่สุดและการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า ดังนี้
สายรถไฟฟ้า |
เป้าหมายความพึงพอใจฯ ในปี 2565 (ระดับมาก–มากที่สุด) |
เป้าหมายการเพิ่มขึ้น ของจำนวนผู้โดยสาร |
สายเฉลิมรัชมงคล |
ร้อยละ 87 |
ร้อยละ 5 ต่อปี |
สายฉลองรัชธรรม |
ร้อยละ 88 |
ร้อยละ 7 ต่อปี |
3.3 ด้านการเงิน รฟม. มีแผนที่จะหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่อง 134.84 ล้านบาท (สายเฉลิมรัชมงคล 109.37 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 25.47 ล้านบาท) และมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ร้อยละ 1.02 นอกจากนี้ มีแผนจะบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา
3.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล รฟม. มีแผนจะพัฒนาบุคลากร โดยบุคลากรร้อยละ 96.61 ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินสมรรถนะ และบุคลากรมีความผูกพันที่ระดับ 4.25 มีแผนจะพัฒนากระบวนการทำงานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งแผนพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหาร งานก่อสร้าง การบริหารโครงการ การจัดซื้อจัดจ้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน แผนการจัดการความรู้ด้านการเดินรถไฟฟ้า และแผนการฝึกอบรมบุคลากรระบบราง
3.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี รฟม. มีแผนจะพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กรใน 4 มิติ ได้แก่ (1) การมีส่วนร่วม (2) ส่งเสริมการสื่อสารธรรมาภิบาล (3) สร้างมาตรฐานการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลที่ดี และ (4) ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานและพัฒนาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านการกำกับดูแลที่ดีโดยมีเป้าหมายในการประเมิน ITA อยู่ที่ร้อยละ 92
4. ความเห็นของ คค.
4.1 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้มีปริมาณผู้โดยสารทุกสายทางลดลง อย่างไรก็ตาม รฟม. ยังคงมีผลการดำเนินงานด้านการเงินที่มีกำไรเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง รวมทั้งสามารถผลักดันการก่อสร้างจนมีโครงการรถไฟฟ้าที่มีกำหนดเปิดให้บริการได้ในปี 2565 จำนวน 2 โครงการ คือโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการให้บริการ เช่น ระบบที่จอดรถด้วยหุ่นยนต์
4.2 เพื่อให้การดำเนินการของ รฟม. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล คค. ได้มอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการ เช่น
4.2.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น ให้เร่งก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานและให้ควบคุมการก่อสร้างไม่ให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตามมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด และเร่งรัดศึกษาโครงการระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว
4.2.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น การบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการให้สามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยและการให้ความสำคัญกับการจัดระเบียบพื้นที่พาณิชย์ในลักษณะที่ต้องไม่กีดขวางทางเดิน
4.2.3 ด้านการเงิน ให้ความสำคัญกับการหารายได้เชิงพาณิชย์นอกเหนือจากการให้บริการรถไฟฟ้าและใช้แนวทางด้านการตลาด
_______________________
1 จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ได้รับแจ้งว่า ทางเลือกของระบบขนส่งมวลชนภูมิภาคที่นำมาพิจารณาสำหรับรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ (1) รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (2) รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง และ (3) รถไฟรางเบาแบบล้อยางชนิดรางเสมือน
2จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2565 ได้รับแจ้งว่า ทางเลือกของระบบขนส่งมวลชนภูมิภาคที่นำมาพิจารณาสำหรับรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ (1) รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อเหล็ก (2) รถไฟฟ้ารางเบาแบบล้อยาง (3) รถไฟรางเบาแบบล้อยางชนิดรางเสมือน และ (4) รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าด่วนพิเศษ
3EMV Contactless คือ การชำระค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิต/เดบิตที่ออกโดยธนาคาร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4210