WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2565

GOV

รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2565

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง

          1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนมกราคม 2565

          การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2565 มีมูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (708,312 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 8.0 ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ท่ามกลางบรรยากาศการค้าโลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่ความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น จึงส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกในวงจำกัด นอกจากนี้ IMF ยังมองว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะยังเติบโตได้ร้อยละ 4.4 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศหลักทั่วโลก ทั้งการค้า การผลิต การบริโภค และการเดินทาง จะกลับเข้าสู่ระดับปกติก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาด้านสาธารณสุขจะลดลงสู่ระดับต่ำภายในสิ้นปี 2565 จากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มขึ้น และการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงส่งผลดีต่อการส่งออกไทย

          มูลค่าการค้ารวม

          มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนมกราคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 21,258.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.0 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 23,785.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 20.5 ดุลการค้าขาดดุล 2,526.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

          มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนมกราคม 2565 การส่งออก มีมูลค่า 708,312.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.7 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 802,688.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 34.5 ดุลการค้าขาดดุล 94,376.5 ล้านบาท

          ตลาดส่งออกสำคัญ

          การส่งออกไปยังกลุ่มตลาดสำคัญส่วนใหญ่ยังคงขยายตัว (ยกเว้นทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา) ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สรุปได้ดังนี้ (1) ตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 24.1 จีน ร้อยละ 6.8 ญี่ปุ่น ร้อยละ 0.1 อาเซียน (5) ร้อยละ 13.2 CLMV ร้อยละ 2.3 และสหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 1.4 (2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 27.1 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 0.2 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 5.0 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 16.2 ขณะที่ทวีปออสเตรเลีย และทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 9.2 ตามลำดับ และ (3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 0.9

 

BANPU 720x100QIC 720x100

 

          2. แนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2565

          การส่งออกปี 2565 คาดว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่มากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ส่งออกไทย อาทิ ตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS (2) การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และอิรัก (3) อุปสรรคการส่งออกเริ่มผ่อนคลาย อาทิ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในตลาดโลก คาดว่าจะมีทิศทางดีขึ้น หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายพยายามแก้ไขปัญหาตู้สินค้าเปล่าล้นท่าเรือ (4) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และ (5) การเติบโตของการค้าออนไลน์ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

          แผนส่งเสริมการส่งออก ในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ยังคงสานต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตการทำงานรูปแบบเซลล์แมนประเทศและเซลล์แมนจังหวัด เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับคนไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม และการทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนผ่านกรอ.พาณิชย์เพื่อส่งเสริมและแก้ไขปัญหาทางการค้าร่วมกัน ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายหรือแผนการทำงานสำคัญ ประกอบด้วย การส่งเสริมผู้ส่งออกพัฒนาสินค้าตามแนวทางเศรษฐกิจ BCG เพื่อเตรียมรับมือกับการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-ซาอุดีอาระเบีย เตรียมผลักดันการส่งออกสินค้าศักยภาพ โดยเฉพาะข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และเตรียมเสนอจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) เพื่อเป็นเวทีเจรจาส่งเสริมการค้าระหว่างกันอย่างเป็นทางการ การขับเคลื่อนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ภายใต้ยุทธศาสตร์ Soft Power ดึงดูดผู้ให้บริการสตรีมมิ่งบันเทิงชื่อดังจากทั่วโลกมาเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมให้ไทยเป็น Hub ของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ในภูมิภาค การส่งเสริมข้าวไทยในตลาดต่างประเทศตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย 2563-2567” เพื่อผลักดันให้ไทยกลับมาเป็นผู้นำตลาดการส่งออกข้าวอีกครั้ง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยลองพิจารณาใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟลาว-จีน เพื่อส่งออกและขยายตลาดสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้สะดวกมากขึ้น

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 เมษายน 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A4209

 Click Donate Support Web 

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100GC 720x100TU720x100sme 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!