รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 April 2022 21:31
- Hits: 5989
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4/2564 และแนวโน้มไตรมาสที่ 1/2565 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 4.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับในไตรมาสที่ 3/2564 ที่หดตัวร้อยละ 0.2 เป็นผลจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด รวมถึงภาคการส่งออกยังคงเติบโตต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในไตรมาสที่ 4/2564 อาทิ การกลั่นปิโตรเลียม จากฐานต่ำในปีก่อนที่ไทยพบการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในหลายพื้นที่ รัฐจึงมีมาตรการควบคุมการระบาดมากขึ้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง กระทบต่อการใช้น้ำมันสำเร็จรูป แต่ในปีนี้ในเดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาอีกครั้งทำให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ จากความต้องการใช้ในตลาดโลกที่สูงขึ้น เพื่อนำไปใช้ร่วมกับกลุ่มสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ยานยนต์ จากผลของเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หนุนให้มีความต้องการรถยนต์มากขึ้น ทำให้การส่งออกขยายตัว เฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากฐานต่ำปีก่อน จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังรุนแรงทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงในปีนี้ผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อสินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์โลหะเพิ่มมากขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2565 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว
อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนมกราคม 2565 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนคือ
1. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 9.21 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด การเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้มากขึ้น
2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 16.76 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เติบโตสูง
3. รถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 5.10 จากสภาพเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการเปิดประเทศและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด หลังการเร่งฉีดวัคซีนในทุกจังหวัด
4. ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ที่มิใช่ยางล้อ ขยายตัวร้อยละ 9.35 จากการผลิตยางแท่งที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าหลักจากจีน อเมริกา และญี่ปุ่น ที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง
5. เบียร์ ขยายตัวร้อยละ 24.74 จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 1/2565
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ต่อเนื่องประมาณร้อยละ 5.0 และ 7.0 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและตลาดส่งออกโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งการขยายโครงข่ายและพัฒนาระบบเทคโนโลยี 5G ทำให้มีความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์กระดาษยังคงได้รับอานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ สำหรับการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ
อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้โดยมีโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยทยอยออกมาเพื่อกระตุ้นความต้องการบริโภคในภาคอสังหาริมทรัพย์มีผลบังคับใช้แล้ว
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางรถยนต์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.00 ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดส่งออก ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะชะลอตัวลงร้อยละ 5.00 เนื่องจากไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ปรับสูงขึ้น
อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์การผลิตและการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เกิดขึ้นในประเทศและประเทศคู่ค้า รวมถึงการปรับราคาเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหาร ซึ่งมีผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมและส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4205