การกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 April 2022 21:28
- Hits: 5902
การกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล สำหรับลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ 1,500 บาท และสำหรับบุคคลในครอบครัวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ 1,100 บาท ซึ่งสิทธิสำหรับบุคคลในครอบครัวจะต้องเป็นสิทธิที่อยู่เดิมตามมติคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ครรส.) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รง. รายงานว่า
1. จากการกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งอาจดำเนินการเองได้ ตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร ในกรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ปัจจุบันพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 (ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564) จำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง (แบ่งเป็น 3 กลุ่ม)* มีจำนวนพนักงานและลูกจ้างรวมทั้งสิ้น 261,464 คน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล กรณีค่าห้องและค่าอาหาร พบว่า มีรัฐวิสาหกิจที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 53 แห่ง มีพนักงานและลูกจ้าง จำนวนรวม 254,428 คน มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าห้องและค่าอาหารสรุปได้ ดังนี้
1.1 รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 1 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 7 แห่ง (ไม่ตอบแบบสำรวจข้อมูล 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) มีพนักงานและลูกจ้าง จำนวน 19,332 คน มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าห้องและค่าอาหาร สำหรับพนักงานในอัตรา 1,200 - 3,000 บาท/วัน ลูกจ้างในอัตรา 600 - 3,000 บาท/วัน และบุคคลในครอบครัวในอัตรา 600 - 3,000 บาท/วัน
1.2 รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 13 แห่ง (ไม่ตอบแบบสำรวจข้อมูล 1 แห่ง ได้แก่ องค์การทหารผ่านศึก) มีพนักงานและลูกจ้างจำนวน 128,384 คน มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าห้องและค่าอาหาร สำหรับพนักงานในอัตรา 600 - 3,000 บาท/วัน ลูกจ้างในอัตรา 300 - 1,500 บาท/วัน และบุคคลในครอบครัวในอัตรา 300 - 3,000บาท/วัน
1.3 รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 3 มีรัฐวิสาหกิจจำนวนรวม 33 แห่ง (ไม่ตอบแบบสำรวจ 2 แห่ง ได้แก่ สถาบันการบินพลเรือนและการกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่แจ้งข้อมูล 1 แห่ง ได้แก่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) มีพนักงานและลูกจ้างจำนวน 106,712 คน มีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับค่าห้องและค่าอาหาร สำหรับพนักงานในอัตรา 800 - 1,200 บาท/วัน ลูกจ้างในอัตรา 600 - 1,200 บาท/วัน และบุคคลในครอบครัวในอัตรา 600 - 1,000 บาท/วัน
โดยมีรัฐวิสาหกิจที่จ่ายค่าห้องและค่าอาหารในอัตราตั้งแต่ 1,500 บาทขึ้นไป/วัน จำนวน 8 แห่ง จำแนกเป็น รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 1 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด บริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
2. เนื่องจากปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง ค่าครองชีพมีการปรับสูงขึ้นทุกปี สถานพยาบาลของทางราชการและของเอกชนมีการปรับเพิ่มค่าห้องและค่าอาหาร พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงบุคคลในครอบครัวต้องประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยและต้องรักษาตัว ดังนั้น การกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการได้เองตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 เกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล จะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลให้กับพนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจได้เป็นอย่างมากส่งผลให้พนักงานและลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจากการสำรวจข้อมูลอัตราค่าห้องและค่าอาหารของสถานพยาบาลต่างๆ ณ ปี 2563 พบว่า สถานพยาบาลของราชการมีค่าเฉลี่ยอัตราค่าห้องและค่าอาหารสำหรับห้องสามัญ 633 บาท/วัน ห้องพิเศษรวม 1,450 บาท/วัน และห้องพิเศษเดี่ยว 2,867 บาท/วัน และสถานพยาบาลของเอกชนมีค่าเฉลี่ยอัตราค่าห้องและค่าอาหารสำหรับห้องพิเศษรวม 1,625 บาท/วัน ห้องพิเศษคู่ 2,052 บาท/วัน และห้องพิเศษเดี่ยว 3,009 บาท/วัน ดังนั้น จึงควรมีการปรับปรุงอัตราค่าห้องและค่าอาหารเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น
3. ครรส. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ได้มีมติที่เห็นชอบเกี่ยวกับการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล สำหรับลูกจ้างเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ 1,500 บาท และสำหรับบุคคลในครอบครัวเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวันละ 1,100 บาท ซึ่งสิทธิสำหรับบุคคลในครอบครัวจะต้องเป็นสิทธิที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ ขอบเขตสภาพการจ้างดังกล่าวไม่ใช่สภาพบังคับที่รัฐวิสาหกิจต้องดำเนินการและหากรัฐวิสาหกิจแห่งใดประสงค์จะดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าว รัฐวิสาหกิจแห่งนั้นจะต้องคำนึงถึงสถานะการเงิน ผลการดำเนินงานของกิจการ การจัดหารายได้เพิ่มหรือสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นและคงสัดส่วนของรายจ่ายด้านบุคลากรต่อรายได้ให้คงอยู่ในอัตราเดิม และเมื่อรัฐวิสาหกิจใดดำเนินการปรับปรุงสภาพการจ้างดังกล่าวแล้วให้แจ้งการปรับปรุงให้ ครรส. ทราบ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงสภาพการจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในโอกาสต่อไป
4. จากการปรับปรุงค่าห้องและค่าอาหาร กรณีเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลนั้น รัฐวิสาหกิจมีการประมาณการค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในปี พ.ศ. 2565และปี พ.ศ. 2566 คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จำนวน 959.87 ล้านบาท และ 965.81 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งแต่ละรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการตามระเบียบ ข้อบังคับ และแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อภาระงบประมาณ รวมทั้งได้มีการประมาณการรายได้และการประหยัดค่าใช้จ่ายเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2565 มีการประมาณการรายได้ จำนวน 1,391,354.63 ล้านบาท การประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวน 56,701.73 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2566 มีการประมาณการรายได้ จำนวน 1,517,026.90 ล้านบาท การประหยัดค่าใช้จ่าย จำนวน 53,094.57 ล้านบาท
_________________
หมายเหตุ : รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 1 รัฐวิสาหกิจที่สามารถดำเนินการกำหนดอัตราเงินเดือนค่าจ้าง ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ เองได้ เมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้นเห็นชอบแล้ว (9 หน่วยงาน)
รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 2 รัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนค่าจ้างเป็นของตนเอง (14 หน่วยงาน)
รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ 3 รัฐวิสาหกิจที่ใช้บัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามประกาศคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (35 หน่วยงาน)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4204