สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 05 April 2022 21:25
- Hits: 6362
สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอสรุปมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ คจร. พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 (1) ที่บัญญัติให้ คจร. เสนอนโยบายและแผนหลักต่อคณะรัฐมนตรี] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. คจร. มีมติรับทราบเรื่องต่างๆ ดังนี้
1.1 ความคืบหน้าการดำเนินการที่สำคัญตามมติ คจร. ได้แก่
1.1.1 ผลการทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น รวมถึงโครงการระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น เส้นทางนำร่องสายสีแดง (สำราญ-ท่าพระ) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างดังกล่าวเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ทั้งนี้ คจร. ได้มอบหมายให้จังหวัดขอนแก่นรับรายงาน EIA ของ สนข. ไปดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่เกี่ยวข้องและรายงานให้ คจร. ทราบต่อไป
1.1.2 การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง มีผลการดำเนินงาน เช่น เร่งรัดศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งจัดทำแผนบูรณาการโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตกับโครงการพิเศษเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการจัดงาน Specialised Expo ของจังหวัดภูเก็ต (จัดในปี 2571) ซึ่งในส่วนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo นั้น อยู่ในขั้นตอนการเตรียมนำเสนอความพร้อมของประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ โดยจะต้องจัดทำ Country Presentation เพื่อนำเสนอประเทศ ณ กรุงปารีส ในเดือนมิถุนายน 2565 และต้อนรับคณะผู้แทนกรรมการจัดงาน ณ จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2565
1.1.3 แผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Public Transit Master Plan: EPMP) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและ สนข. จะหารือร่วมกับกรมขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อหาผู้ประกอบการในการเดินรถตามแผนฯ ต่อไป
1.1.4 โครงการศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโรงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorways-Railways Masterplan: MR-Map) กลมทางหลวง (ทล.) ได้จัดทำร่างแผนการพัฒนา MR-Map แล้วเสร็จจำนวน 10 เส้นทางระยะทางรวม 7,003 กิโลเมตร ทั้งนี้ เส้นทางนำร่อง 3 เส้นทาง ดังนี้ (1) เส้นทาง MR2 กรุงเทพมหานคร/ชลบุรี-หนองคาย ช่วงชลบุรี (แหลมฉบัง)-นครราชสีมา (2) เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี-อุบลราชธานี ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี และ (3) เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง นอกจากนี้ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับ MR-Map เนื่องจากเป็นการลดผลกระทบในการเวนคืนแต่มีข้อกังวล เช่น การตัดเส้นทางผ่านพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ชุมชน
1.2 รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สรุปได้ ดังนี้
สถานะโครงการ |
จำนวน (เส้นทาง) |
ระยะทาง (กิโลเมตร) |
ตัวอย่างโครงการ |
เปิดให้บริการแล้ว |
11 |
211.94 |
- สายสีแดง (เหนือ) ช่วงบางซื่อ-รังสิต (26.30 กิโลเมตร) - สายสีแดง (ตะวันตก) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (15.26 กิโลเมตร) - สายสีทอง ช่วงกรุงธนบุรี-คลองสาน (1.88 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างก่อสร้าง |
5 |
112.20 |
- สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี (34.50 กิโลเมตร) - แอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (21.80 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างประกวดราคา |
2 |
37 |
- สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (23.60 กิโลเมตร) - สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ (13.40 กิโลเมตร) |
อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน |
6 |
71.49 |
- สายสีแดง (เหนือ) ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต (8.84 กิโลเมตร) - สายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ (16.25 กิโลเมตร) |
โครงการส่วนต่อขยายเพิ่มเติม |
9 |
120.78 |
- สายสีแดง (ใต้) ช่วงหัวลำโพง-มหาชัย (38 กิโลเมตร) - สายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (22.10 กิโลเมตร) |
1.3 รายงานความคืบหน้าแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประกอบด้วย (1) การเพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น ได้แก่ การก่อสร้างอุโมงค์ ถนน ทางยกระดับ สะพานข้ามแยก และจุดที่ยังไม่ได้ดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทาง (Missing Link) เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดและการขาดความต่อเนื่องของโครงข่ายถนน จำนวน 12 เส้นทาง วงเงินรวม 271,741 ล้านบาท และการบริหารจัดการการใช้ถนนเดิมให้มีประสิทธิภาพ และ (2) การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคลบนถนน วงเงินรวม 1,937 ล้านบาท เช่น การจัดพื้นที่จอดและจรตามแนวขนส่งมวลชน มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและการเพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า ทั้งนี้ มีความก้าวหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น (1) โครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก (แยกไฟฉาย) มีความก้าวหน้าร้อยละ 80 (2) โครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ มีความก้าวหน้าร้อยละ 64.41 และ (3) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางแยกต่างระดับลำลูกกา มีความก้าวหน้าร้อยละ 28.62
1.4 การดำเนินการระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สถานีรังสิต) โดยที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงพื้นที่จังหวัดปทุมธานีประสบปัญหาการจราจรติดขัดเป็นจำนวนมากทั้งจากรถยนต์ส่วนบุคคลและรถโดยสารประจำทาง ส่งผลให้เกิดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาจราจรและรองรับการใช้งานรถไฟชานเมืองสายสีแดง จึงพิจารณาให้มีการจัดให้บริการเดินรถด้วยระบบขนส่งสาธารณะรอง (Feeder) ที่มีรูปแบบการเดินรถตามตารางเวลาที่สอดคล้องกับการให้บริการของระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรองรับการให้บริการแก่ทุกคน โดยในปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะทำงานปรับปรุงลักษณะกายภาพบนถนนรังสิต-นครนายก ถนนเลียบคลองเปรมประชากร และถนนพหลโยธิน รองรับระบบขนส่งสาธารณะในการเชื่อมต่อการเดินทางสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง จังหวัดปทุมธานี และคณะทำงาน เพื่อดำเนินการจัดให้มีระบบ Feeder เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงที่สถานีรังสิต โดยจะรับฟังความเห็นของประชาชนต่อไป
1.5 แนวทางการพัฒนาระบบเทคโนโลยีด้านการจราจรและขนส่งเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่พัฒนาและนำระบบเทคโนโลยีด้านการขนส่งและจราจรด้วยการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) และระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) เช่น ทล.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ ขบ. ซึ่งข้อมูลที่ได้จากระบบเหล่านี้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปริมาณจราจรและความเร็วในการเดินทางของพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของหน่วยงานดังกล่าวยังขาดรูปแบบการเชื่อมต่อข้อมูลและการบูรณาการทั้งระบบ ดังนั้น สนข. จึงได้ศึกษาการจัดทำโมเดลการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริการจัดการการจราจร เพื่อนำข้อมูลจากระบบ CCTV และระบบ GPS ของหน่วยงานต่างๆ มาใช้ในการบริหารจัดการการจราจร โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีฐานข้อมูลกลางเพื่อใช้ประกอบการบริหารจัดการด้านการจราจร ซึ่งในปัจจุบันพบว่า กล้อง CCTV ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) 473 กล้อง สามารถนำมาใช้ได้ 129 กล้อง ของ ทล. 29 กล้อง สามารถนำมาใช้ได้ 22 กล้อง ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) 52 กล้อง สามารถนำมาใช้ได้ 52 กล้อง ของ กทพ. 375 กล้อง สามารถนำมาใช้ได้ 33 กล้อง ทั้งนี้ คจร. ได้มอบหมายให้ กทม. ทล. ทช. กทพ. และ ขบ. ให้ความอนุเคราะห์การเชื่อมต่อข้อมูลกล้อง CCTV และ GPS ต่อไป
1.6 สรุปผลการดำเนินงานคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (อจร.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่ง อจร. ได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาและอุปสรรถด้านการขนส่งและการจราจร 215 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 73 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 97 เรื่อง และอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 45 เรื่อง
2. คจร. ได้พิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้
2.1 รายงานผลการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เช่น ความจุของทางพิเศษไม่เพียงพอการจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางพิเศษ และจุดคอขวดทางกายภาพบนทางพิเศษ โดยผลการศึกษามีการเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษใน 3 แนวเส้นทางหลัก ได้แก่ (1) ทางพิเศษศรีรัช ช่วงงามวงศ์วาน-พญาไท-พระราม 9 (2) ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงมักกะสัน-ท่าเรือ-บางนา และ (3) ทางพิเศษฉลองรัช แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ดำเนินการในปี 2565-2569 และระยะที่ 2 ดำเนินการตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1.1 กลุ่มที่ 1 ดำเนินการในปี 2566 จำนวน 4 โครงการ บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ได้แก่ การก่อสร้างทางเชื่อมและการก่อสร้างทางขึ้น-ลง
2.1.2 กลุ่มที่ 2 ดำเนินการในปี 2567 จำนวน 4 โครงการ บนทางพิเศษฉลองรัช ได้แก่ การเปิดใช้ช่องจราจรสวนกระแส การปรับปรุงทางลง และการก่อสร้างทางเชื่อม
2.1.3 กลุ่มที่ 3 ดำเนินการในปี 2568-2569 จำนวน 8 โครงการ บนพิเศษศรีรัช ได้แก่ การก่อสร้างทางยกระดับ การขยายผิวจราจร การก่อสร้างทางเชื่อม และการก่อสร้างทางลง
2.1.4 กลุ่มที่ 4 ดำเนินการหลังปี 2570 จำนวน 5 โครงการ บนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ได้แก่ การขยายผิวจราจร การก่อสร้างทางลง และการก่อสร้างทางเชื่อม โดยมีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจพบว่า ควรมีการลงทุนทั้งในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งจะทำให้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 16.35 และร้อยละ 25.77 ตามลำดับ นอกจากนี้มีการเสนอให้พัฒนาโครงการทางพิเศษเพิ่มเติมอีก 11 โครงการ โดยบูรณาการร่วมกับโครงข่าย MR-Map เช่น โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดานคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกและโครงการทางเชื่อมระหว่างทางยกระดับอุตราภิมุข และทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอก (Missing Link)
คจร. มีมติเห็นชอบรายงานผลการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษในภาพรวมทั้งระบบ
2.2 แผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น โดยได้จัดทำแผนการพัฒนาการเดินทางทางน้ำในปี พ.ศ. 2565-2585 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพรองรับการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล บูรณาการการเดินทางทางน้ำให้เข้ากับการเดินทางรูปแบบอื่นแบบไร้รอยต่อ และเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ของการเดินทางทางน้ำในการสัญจรและการท่องเที่ยว รวมจำนวน 14 เส้นทาง มีรายละเอียด ดังนี้
2.2.1 ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2565-2570) จำนวน 5 เส้นทาง เช่น (1) เส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบส่วนต่อขยาย ช่วงวัดศรีบุญเรืองถึงถนนสุวินทวงศ์ (ระยะทาง 12 กิโลเมตร) และเส้นทางเดินเรือในคลองบางลำพู ช่วงสะพานผ่านฟ้าลีลาศถึงป้อมพระสุเมรุ (ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร) และ (2) เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าว ช่วงสายไหมถึงพระโขนง (ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร)
2.2.2 ระยะกลาง (พ.ศ 2571-2575) จำนวน 5 เส้นทาง เช่น (1) เส้นทางเดินเรือในคลองลาดพร้าวส่วนต่อขยาย (คลองสอง) ช่วงถนนสายไหม-คูคต ถึงประตูน้ำคลองสอง (ระยะทาง 8.5 กิโลเมตร) และ (2) เส้นทางเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนต่อขยาย ช่วงปากเกร็ดถึงที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี (ระยะทาง 15 กิโลเมตร)
2.2.3 ระยะยาว (พ.ศ. 2576-2585) จำนวน 4 เส้นทาง เช่น เส้นทางเดินเรือในคลองอ้อมนนท์ ช่วงวัดโตนดถึงแยกคลองบางกรวย (ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร)
โดยหากดำเนินงานตามแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำฯ คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางทางน้ำเพิ่มขึ้นจาก 193,070 คน/วัน เป็น 354,225 คน/วัน
คจร. มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น และมอบหมาย สนข. ผลักดันไปสู่การปฏิบัติในแผนระดับที่ 3 ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 5 เมษายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4203