ร่างพระราชกฤษฎีกาขยายระยะเวลาการใช้บังคับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542 พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 March 2022 15:38
- Hits: 8112
ร่างพระราชกฤษฎีกาขยายระยะเวลาการใช้บังคับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542 พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาขยายระยะเวลาการใช้บังคับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ และมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งผลิตแพทย์นิติเวชศาสตร์ให้เพียงพอแก่การดำเนินการชันสูตรพลิกศพ ตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเร่งจัดให้มีการอบรมทาง นิติเวชศาสตร์ให้แก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้สามารถออกชันสูตรพลิกศพแทนแพทย์ ตามมาตรา 148 (3) (4) และ (5) ได้ต่อไป และรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ ยธ. เสนอ เป็นการขยายระยะเวลาการใช้บังคับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542 ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 ซึ่งการขยายระยะเวลาดังกล่าวได้เคยขยายระยะเวลามาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่ ช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่ต้องทำการชันสูตรพลิกศพในปัจจุบันมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการออกไปชันสูตรพลิกศพ ณ ที่เกิดเหตุได้ เพื่อให้แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภาตามมาตรา 150 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่ผ่านการอบรมทางนิติเวชศาสตร์ไปร่วมตรวจชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุในเบื้องต้นแทนแพทย์ ในกรณีที่ต้องชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 148 (3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย (4) ตายโดยอุบัติเหตุ และ (5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ต่อไป ซึ่งจะทำให้กระบวนการชันสูตรพลิกศพเป็นไปด้วยความรวดเร็วและอำนวยความยุติธรรมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2542 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 เพื่อให้แพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภาตามมาตรา 150 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สามารถมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ผ่านการอบรมทางนิติเวชศาสตร์ไปร่วมตรวจชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุในเบื้องต้นแทนแพทย์ ในกรณีที่ต้องชันสูตรพลิกศพตามมาตรา 148 (3) (4) และ (5) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3985