รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 March 2022 13:06
- Hits: 8521
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประจำครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2564 (1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2564) [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ศ. 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 28/7 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ กนง. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีทุกหกเดือน] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. เป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับปี 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติ (14 ธันวาคม 2564) อนุมัติให้ใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงิน โดย กนง. ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
2. การประเมินภาวะเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้ม
2.1 ภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้ม
2.1.1 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม - กันยายน) ปี 2564 หดตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยชะลอลงในช่วงต้นไตรมาสจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงและขยายวงกว้าง ส่งผลให้ภาคบริการชะลอลงมากและภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากจำนวนชั่วโมงทำงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้บ้างในช่วงปลายไตรมาส เนื่องจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ส่วนในไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม - ธันวาคม) ปี 2564 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายและการกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ทำให้ภาครัฐสามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมและออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและรักษาระดับการจ้างงาน ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัว ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มฟื้นตัวจากนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว (Test&Go) ก่อนจะปิดรับลงทะเบียนชั่วคราวในช่วงปลายปีเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
2.1.2 เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 0.9 และจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 และ 2566 ที่ร้อยละ 3.4 และ 4.7 ตามลำดับ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ธันวาคม 2564*) ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลกระทบเฉพาะในช่วงแรกของปี 2565 ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะทยอยเดินทางมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และการฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและภาคโรงแรมมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าสาขาอื่น ส่วนการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 จะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมโดยอยู่ที่ 5.6 ล้านคน และการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศแต่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องมีการติดตาม ดังนี้ (1) พัฒนาการการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์และความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด (2) ความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจ (3) ความต่อเนื่องและเพียงพอของมาตรการภาครัฐเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ (4) ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน**ทั่วโลกที่อาจยืดเยื้อและส่งผลต่อธุรกิจในภาคการผลิตและการส่งออก
2.2 ภาวะเงินเฟ้อและแนวโน้ม
2.2.1 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.56 โดยอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่ร้อยละ 0.89 จากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงาน ขณะที่ราคาอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นตามอุปทานที่ลดลง เนื่องจากปัญหาอุทกภัยและโรคระบาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.19 และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวยังอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน
2.2.2 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดย กนง. ประเมินว่าในปี 2565 และ 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และ 1.4 ตามลำดับ ซึ่งจะสูงขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานและข้อจำกัดในการผลิตและขนส่งสินค้าในต่างประเทศและคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ส่วนราคาอาหารสดมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาสุกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงสูงจากพัฒนาการเงินเฟ้อโลกที่ปรับขึ้นเร็ว และอาจเกิดการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการมายังผู้บริโภคมากขึ้นหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนยังส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลกเกิดภาวะชะงักงัน รวมถึงหากราคาพลังงานโลกอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานอาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมสูงขึ้น
2.3 เสถียรภาพระบบการเงิน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังคงเปราะบางจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่แน่นอนและแตกต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ อีกทั้งภาระหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าสาขาอื่น อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพระบบสถาบันการเงินยังเข้มแข็งและสามารถรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงในอนาคตได้
3. การดำเนินนโยบายการเงิน
3.1 การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี เพื่อให้ภาวะการเงินผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะทยอยกลับมามากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อเป็นการปรับเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากราคาพลังงานเป็นหลักและคาดว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ กนง. เห็นว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการการคลังที่ควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุด
3.2 การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อน (เมษายน - มิถุนายน) เนื่องจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) เงินทุนเคลื่อนย้ายออกส่วนหนึ่งจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในประเทศและ (2) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐภายหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาทยอยลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น ส่วนไตรมาสที่ 4 ปี 2564 มีการเคลื่อนไหวที่ผันผวน โดยในช่วงกลางไตรมาสเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นตามความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นจากแผนการเปิดประเทศแต่ในช่วงเดือนธันวาคมเงินบาทกลับอ่อนค่าเร็วเนื่องจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนและ (2) การลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทั้งนี้ กนง. เห็นควรผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX Ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้มีการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
3.3 การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ได้แก่ (1) เสถียรภาพภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดย ธปท. ได้ดำเนินมาตรการ เช่น 1) การพักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นเวลา 2 เดือน และ 2) การปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs (2) เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน โดย ธปท. ได้ดำเนินมาตรการ เช่น 1) การคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อยและ SMEs ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 และ 2) การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราการนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเหลือร้อยละ 0.23 จนถึงสิ้นปี 2565 (3) เสถียรภาพตลาดการเงิน โดย ธปท. ได้ดำเนินมาตรการขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ จนถึงสิ้นปี 2565
3.4 การสื่อสารนโยบายการเงิน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 กนง. ได้พัฒนาการสื่อสารนโยบายการเงิน ดังนี้ (1) เผยแพร่เอกสารข้อมูลประกอบการประชุม กนง. ไปพร้อมกับการเผยแพร่รายงานการประชุม กนง. ฉบับย่อ โดยเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนและ (2) ปรับปรุงรูปแบบรายงานนโยบายการเงินเป็นรูปแบบ Interactive PDF เพื่อตอบสนองความต้องการอ่านในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์
4. การปรับลดจำนวนครั้งการประชุม กนง. ในการประชุม กนง. ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 กนง. มีมติให้ปรับจำนวนการประชุม กนง. จาก 8 ครั้งต่อปี เป็น 6 ครั้งต่อปี ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจซึ่งข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากในช่วงเวลาสั้นๆ รวมทั้งจะช่วยลดความผันผวนจากการคาดการณ์ของตลาดการเงินต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายและช่วยให้ตลาดการเงินสามารถคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินได้ชัดเจนขึ้น
___________________________
* จากการประสานข้อมูลเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ธปท. แจ้งว่าเป็นข้อมูลล่าสุด ณ ปัจจุบัน โดยจะมีการปรับปรุงข้อมูลอีกครั้งในการประชุม กนง. ครั้งที่ 2/2565 วันที่ 30 มีนาคม 2565
** ข้อจำกัดด้านอุปทาน (Global Supply Disruption) คือ ภาวะห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตเกิดภาวะชะงักงันทั่วโลกเนื่องจากภาคอุตสาหกรรมดำเนินการผลิตได้เพียงบางส่วนทำให้ผลิตสินค้าได้ไม่เพียงพอและภาคการขนส่งได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3981