ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 March 2022 11:52
- Hits: 6438
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 การดำเนินการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ มีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบหลักการ แนวทางและการดำเนินการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้มีการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (Ways) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกหรือบริบทของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งยังคง “เป้าหมาย” (End) ตามยุทธศาสตร์ชาติไว้เช่นเดิมโดยมีแนวทางการปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเฉพาะเป้าหมายระดับแผนแม่บทย่อยที่อาจไม่ส่งผลต่อเป้าหมายระดับประเด็น ปรับปรุงตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และแนวทางการพัฒนาให้มีความเหมาะสมและสะท้อนการบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง โดย สศช. จะเสนอคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทฯ ตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะบังคับใช้แผนแม่บทฯ ฉบับปรับปรุงภายในเดือนกันยายน 2565
1.2 การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 เห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 2 ที่ระบุทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่ครอบคลุมเฉพาะประเด็นการพัฒนาประเทศที่มีลำดับความสำคัญสูง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 13 หมุดหมาย ภายใต้ 4 มิติการพัฒนา ดังนี้ (1) มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย (6 หมุดหมาย) (2) มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม (3) หมุดหมาย) (3) มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2 หมุดหมาย) และ (4) มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ (2 หมุดหมาย) ทั้งนี้ สศช. จะเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตามขั้นตอนต่อไปและคาดว่าจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565
1.3 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) คณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้
1.3.1 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อน การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยปี 2565 มีกลุ่มคนเป้าหมายของระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) จำนวน 1,025,782 คน เพิ่มขึ้นจำนวน 42,466 คน จากปี 2562 ที่มีจำนวน 983,316 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2565
1.3.2 เห็นชอบเมนูแก้จน ที่จำแนกตาม 3 ขั้นการพัฒนา ได้แก่ อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน และ 5 มิติความขัดสน ประกอบด้วย (1) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (2) การศึกษาและทักษะที่จำเป็น (3) สถานะทางสุขภาพ (4) คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และ (5) การเข้าถึงบริการ ความช่วยเหลือ และการมีส่วนร่วมในสังคม ซึ่งเมนูแก้จนจะมีข้อมูลแนวทาง มาตรการ และการดำเนินการ ให้ ศจพ. ทุกระดับนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยแบบพุ่งเป้าในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.3.3 มอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพหลัก 5 มิติ ได้แก่ (1) มิติสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) (2) มิติความเป็นอยู่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.) (3) มิติการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) (4) มิติรายได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน มท. ศธ. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง (5) มิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ พม. ทั้งนี้ หน่วยงานเจ้าภาพหลักจะต้องดำเนินการร่วมกับ ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการจัดทำโครงการ/การดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัย โดยใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP และเมนูแก้จนเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำโครงการฯ
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สศช. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานความคืบหน้าฯ รอบเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2564 เพื่อรายงานการดำเนินงานของกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่าง มีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวน 62 กิจกรรม และสถานะการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวน 45 ฉบับ เพื่อแสดงความก้าวหน้าในการดำเนินงานและประเด็นปัญหา รวมทั้ง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลในการกำกับ ติดตาม เร่งรัดการดำเนินการได้อย่างทันการณ์และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยมีตัวอย่าง เช่น ความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในกิจกรรมปฏิรูปที่ 1 การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขรวมถึงโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ เพื่อความมั่นคงแห่งชาติด้านสุขภาพ ดำเนินการแล้วเสร็จในเป้าหมายย่อยที่ 1 โดย สธ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขและมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจครบทั้ง 76 จังหวัด เพื่อเป็นกลไกบริหารสถานการณ์แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ส่วนเป้าหมายย่อยที่ 2 ที่มีการดำเนินการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ สธ. และหน่วยงานร่วมดำเนินการจำเป็นต้องเร่งจัดทำร่างแผนบูรณาการเพื่อยกระดับศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและแผนปรับปรุงโครงสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข พ.ศ. 2564-2565 ให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและคณะรัฐมนตรีภายในเดือนกันยายน 2565 ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและ แผนการปฏิรูปประเทศ
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการ ตามยุทธศาสตร์ชาติและรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2564* และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีมติเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 รับทราบรายงานดังกล่าวด้วยแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนการดำเนินการสู่การบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องกฎหมายและกระบวนงานที่มีความล้าสมัย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญและเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัย
4. การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้เผยแพร่คู่มือการจัดทำโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติและคู่มือการจัดทำแผนระดับที่ 3 ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถจัดทำโครงการ/การดำเนินงานบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์และยกระดับการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การบรรลุผลลัพธ์ของเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
5. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในการประชุม คจพ. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายนโยบายการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและการพัฒนาคน ทุกช่วงวัย โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ข้อมูลจากระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือในการชี้เป้าการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า และเร่งศึกษาทำความเข้าใจวิธีการใช้งานระบบ TPMAP เมนูแก้จน และหลักการจัดทำโครงการในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการดำเนินการที่มีอยู่ให้สอดคล้องกันตาม 3 ขั้นตอน การพัฒนา มิติความขัดสน และภูมิสังคมในพื้นที่ รวมทั้งให้หน่วยงานเร่งปรับปรุงข้อจำกัดเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบและดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบ TPMAP เพื่อให้เป็นระบบหลักในการแก้ปัญหาความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพุ่งเป้า
6. นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ สศช. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลสำเร็จของการดำเนินการ ตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศที่เป็นรูปธรรมให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันต่อไป
* คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 กุมภาพันธ์ 2565) รับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมกราคม 2565 ซึ่งมีรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2564 รวมอยู่ด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3979