รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 30 March 2022 11:41
- Hits: 4486
รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564 และรายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 13 (13) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เสนอรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ให้ ทส. รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ กก.วล. ในการประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 มีมติเห็นชอบร่างรายงานดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2564 มีการนำเสนอภาพรวมการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม สถานการณ์และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกและภูมิภาค ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของประเทศที่นำไปบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 72,381.84 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.19 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีข้อมูลที่สำคัญ ดังนี้
1.1 สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขา จำนวน 11 สาขา โดยในช่วงปี 2563-เดือนมิถุนายน 2564 มีสาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นจำนวน 9 สาขา ได้แก่ 1) ทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน มีการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรลดลงและการนำเข้าปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 2) ทรัพยากรแร่ ปริมาณการผลิต การใช้ และการส่งออกแร่ลดลงแต่มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3) พลังงาน มีการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนลดลง 4) ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า พื้นที่ป่าไม้ค่อนข้างคงที่ พื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้นและจำนวนจุดความร้อนสะสมลดลง 5) ทรัพยากรน้ำ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำบาดาลไม่มีการเปลี่ยนแปลง และคุณภาพน้ำบาดาลทั่วไปมีคุณภาพดี 6) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงและพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น 7) ความหลากหลายทางชีวภาพ พบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย ได้แก่ พืช 7 ชนิด สัตว์ 2 ชนิด และจุลินทรีย์ 12 ชนิด 8) สิ่งแวดล้อมชุมชน ในกรุงเทพมหานครมีชุมชนแออัดลดลงและมีพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และ 9) สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม โดยมีกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการบรรจุเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ และสาขาที่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ควรเฝ้าติดตาม จำนวน 2 สาขา ได้แก่ 1) สถานการณ์มลพิษ พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนลดลง แต่มีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจากการสั่งสินค้าและอาหารผ่านทางระบบออนไลน์ ขณะที่ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อในระยะครึ่งปีแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น และค่าเฉลี่ยรายปีฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ทั้งประเทศลดลง แต่ในภาคเหนือมีแนวโน้มสถานการณ์หมอกควันรุนแรงขึ้น มีสาเหตุจากสภาพอากาศแห้งแล้งยาวนานและเกิดไฟป่าได้ง่าย และ 2) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของประเทศสูงกว่าค่าปกติ 0.9 องศาเซลเซียส และระดับน้ำทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
1.2 ประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2564 ได้แก่
1.2.1 การนำขยะไปผลิตกระแสไฟฟ้า ได้คัดเลือกเทศบาลตำบลบ้านคลอง จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่กรณีศึกษาในการคัดแยกขยะชุมชน รวบรวมและเก็บขนเพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพเป็นขยะเชื้อเพลิง ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้เทศบาลมีการจัดการขยะที่ดีและเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่อื่นๆ
1.2.2 การบริหารจัดการน้ำ ได้คัดเลือกบ้านธารมะยม อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูงและเคยประสบปัญหาน้ำแล้ง เนื่องจากพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลายจากไฟไหม้ป่าเป็นประจำ เป็นพื้นที่กรณีศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมมือกันฟื้นฟูพื้นที่ป่าด้วย การปลูกต้นไม้ สร้างฝายชะลอน้ำ ทำแนวกันไฟ และร่วมกันดับไฟป่า จนทำให้ป่าไม้กลับมามีสภาพสมบูรณ์และพื้นที่ป่าสามารถกักเก็บน้ำได้ ชุมชนมีน้ำใช้อุปโภคและบริโภคตลอดทั้งปี
1.2.3 การจัดการมูลฝอยติดเชื้อจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้คัดเลือกเทศบาลเมืองศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่กรณีศึกษาแนวทางการจัดการมูลฝอยติดเชื้อฯ ที่มีประสิทธิภาพ โดยเทศบาลได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุขในพื้นที่สร้างความร่วมมือกับประชาชนในการป้องกันโรคและจัดการมูลฝอยที่ติดเชื้อฯ ที่ถูกหลักสุขาภิบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถควบคุม การแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี
1.3 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากข้อมูลสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมรายสาขาและประเด็นสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่สำคัญ พ.ศ. 2564 ได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.3.1 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะสั้น (1-2 ปี) ได้แก่
ประเด็น |
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย |
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก |
||
1) การจัดการขยะพลาสติกและพลาสติกทะเล |
ควรประชาสัมพันธ์สร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนลดการใช้พลาสติก คัดแยกขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทางและนำกลับไปใช้ใหม่และการจัดการขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอย่างเหมาะสม รวมทั้งป้องกันไม่ให้ขยะบนบกไหลลงสู่ทะเล การติดตั้งทุ่นกักขยะพลาสติกบริเวณปากแม่น้ำหรือขยะจากการประกอบการท่องเที่ยวและประมงปล่อยทิ้งลงทะเล อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลได้ |
- กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม - กรมควบคุมมลพิษ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง - กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
||
2) การจัดการมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 |
ควรให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 [เรื่องการแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในระยะเร่งด่วน] เพื่อให้ อปท. สามารถนำมูลฝอยติดเชื้อตกค้างไปเผาทำลายที่โรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานผลิตไฟฟ้าได้ |
- กรมควบคุมมลพิษ - กรมอนามัย - กรมโรงงานอตุสาหกรรม - กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
||
3) การคุ้มครองพื้นที่มีความสำคัญหรือมีความอ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม |
ประสานความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนพร้อมนำหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เชิงพื้นที่บนหลักการสร้างสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นแนวทางในการฟื้นฟู คุ้มครองและอนุรักษ์ให้ทันท่วงทีและต่อเนื่อง |
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - กรมป่าไม้ - กรมทรัพยากรน้ำ -กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง - สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) - กรมศิลปากร - กรมควบคุมมลพิษ - กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น |
1.3.2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายระยะยาว (3-10 ปี) ได้แก่
ประเด็น |
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย |
หน่วยงานรับผิดชอบหลัก |
||
1) การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน |
ควรส่งเสริมให้เกิดเป็นสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การทำเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดภัย มีกระบวนการผลิตตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานหมุนเวียน การเผยแพร่ ความรู้ด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนให้กับประชาชน รวมถึงการจัดการเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าวให้แก่นักเรียนและนักศึกษา |
- กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม - สผ. - กรมควบคุมมลพิษ - สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง - สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร - สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) - กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน - สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา -สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาเดิม) - กรมประชาสัมพันธ์ - สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม - กรมโรงานอุตสาหกรรม - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - หอการค้าไทย |
||
2) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก |
- ควรกำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น - ควรส่งเสริมการขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น - ควรเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรในกระบวนการผลิตในภาคการเกษตร - ควรลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรและใส่ปุ๋ยตามความเหมาะสมของดินและความต้องการของพืช รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการปลูกต้นไม้และป่าชายเลน |
- สผ. - องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (มหาชน) - สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง - สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร - สนข. - พพ. - สวทช. - สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม - กรมโรงงานอุตสาหกรรม - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช - กรมป่าไม้ - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง - สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - หอการค้าไทย |
||
3) การใช้ทรัพยากรให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ |
ควรมีการจัดการที่ดีเพื่อป้องกันการรั่วไหลของโลหะหนักที่ปนอยู่รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มบทบาทและความรับผิดชอบให้แก่ผู้ผลิตเป็นผู้เก็บรวบรวมและขนส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถนำไปคัดแยก รีไซเคิล และนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตซ้ำ รวมถึงมีการจัดการอย่างถูกวิธี ไม่เกิดมลพิษตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน |
- กรมควบคุมมลพิษ - กรมโรงงานอุตสาหกรรม - สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม - สวทช. - กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม |
2. รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562
2.1 ผลการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฯ จำนวน 91 ข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 71 หน่วยงาน ได้มีการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องจำนวน 322 โครงการ สามารถแบ่งกลุ่มการดำเนินงานออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านกฎหมายและนโยบาย ด้านการบริหารจัดการ และด้านการสนับสนุน มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
(1) ด้านกฎหมายและนโยบาย |
(2) ด้านการบริหารจัดการ |
(3) ด้านการสนับสนุน |
||
ข้อเสนอแนะ (ทรัพยากรดินและการใช้ดิน) : ปรับปรุงเครื่องมือทางผังเมือง จัดให้มีการวางผังเมืองในทุกระดับโดยเน้นขอบเขตพื้นที่ลุ่มน้ำในการกำหนดการใช้ที่ดินและการมีแผนการใช้ที่ดินที่เน้นความสำคัญของระบบนิเวศและศักยภาพของที่ดิน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาการใช้ที่ดินผิดประเภทและปัญหาผลกระทบภายนอกระหว่างกิจกรรมต่างๆ |
||||
กรมโยธาธิการและผังเมืองได้วางนโยบายระดับประเทศ วางและจัดทำผังนโยบายระดับภาค วางและจัดทำผังเมือง รวมเมือง/ชุมชน และผังเมืองรวมจังหวัดเพื่อกำหนดกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระดับประเทศ วางผังภาคให้เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบทการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยมุ่งให้เกิดการพัฒนาเมืองหรือชนบท |
กรมที่ดิน ได้บริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุกเพื่อให้ราษฎรได้เข้าอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐโดยถูกต้องมีความมั่นคงในการถือครองที่ดินส่งผลให้เกิดความมั่นใจในการประกอบกิจการในที่ดิน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และลดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับราษฎร เกี่ยวกับสิทธิการครอบครองที่ดินของรัฐ และการรังวัดออกและตรวจสอบหนังสือสำคัญ สำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เพื่อการจัดที่ดิน |
กรมโยธาธิการและผังเมืองได้วางผังระบายน้ำจังหวัดใน 25 ลุ่มน้ำ เพื่อศึกษาและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยของพื้นที่ สิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำที่มีผลต่อการระบายน้ำของชุมชนเมืองพร้อมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา |
||
ข้อเสนอแนะ [สถานการณ์มลพิษ (คุณภาพอากาศ)] : จัดทำแนวทางและรูปแบบการเพิ่มภาษีสำหรับรถยนต์เก่า โดยพิจารณารูปแบบของต่างประเทศมาปรับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนการติดตั้งอุปกรณ์ที่ลดเขม่าจากการเผาไม้ ซึ่งสามารถดักจับเขม่าควันต่างๆ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ไม่ให้ปล่อยออกไปสู่อากาศได้ |
||||
กรมสรรพสามิตได้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียและสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ |
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ รถจัรยานยนต์ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) การลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้า และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล B10 และ B20 |
กรมการขนส่งทางบกได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใช้รถใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดังนี้ 1) รถที่ใช้ไฟฟ้า กำหนดให้จัดเก็บในอัตรากึ่งหนึ่งของรถที่ใช้น้ำมันเว้นแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คนที่จัดเก็บตามน้ำหนักของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน 2) รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงอย่างเดียว กำหนดให้จัดเก็บภาษีในอัตรากึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนดไว้ และ 3) รถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมหรือสลับกับน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดให้จัดเก็บในอัตรา 3 ใน 4 ของอัตราที่กำหนดไว้ |
||
ข้อเสนอแนะ [สถานการณ์มลพิษ (ขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย มูลฝอยติดเชื้อ และสารอันตราย)] : จัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ที่ยากต่อการรีไซเคิลหรือกำจัดยาก หรือขยะไม่ย่อยสลาย เช่น เก็บภาษีกล่องโฟม และภาษีพลาสติกย่อยสลายยาก และสนับสนุนการลดค่าธรรมเนียมการเก็บขยะสำหรับแหล่งกำเนิดขยะหากมีการใช้วัสดุแทน และเร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อขยายบทบาทและความรับผิดชอบของภาคเอกชน (ผู้ผลิต) ในการจัดการของเสียอันตรายประเภทซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ |
||||
กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาการใช้มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทนกล่องโฟมและพลาสติก เพื่อจูงใจให้เกิดการใช้วัสดุทดแทนกล่องโฟมและพลาสติก และลดปัญหาขยะจากกล่องโฟมและพลาสติก |
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองฯ |
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้มีการศึกษารูปแบบการจัดการมลพิษจากขยะชุมชนและขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ |
2.2 ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการดำเนินงานให้บรรลุตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ปัญหา อุปสรรค |
แนวทางการแก้ไข |
|
1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานล่าช้ากว่ากำหนด |
ปรับปรุงการปฏิบัติงาน/เตรียมแผนการดำเนินงานเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ |
|
2) การบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีไม่มากและมีความซ้ำซ้อน |
บูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลาง ภูมิภาค และพื้นที่ให้สอดคล้องกัน |
|
3) ภาคส่วนต่างๆ ยังไม่มีความเข้าใจการดำเนินงานในเชิงนโยบายที่ชัดเจน เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม |
เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจการกำหนดนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ |
|
4) การพัฒนาฐานข้อมูลและการจัดทำระบบสารสนเทศต้องใช้ความรู้เฉพาะทางและไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน |
พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สามารถบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ข้อมูลทันสมัย และผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้งานได้ง่าย |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3977