ผลการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 29 March 2022 23:42
- Hits: 8056
ผลการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 โดยอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้การรับรองเอกสารร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนถ้อยคำในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ดำเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลังตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กก. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและคณะได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน1 ครั้งที่ 6 (6th ASEAN Ministerial Meeting on Sports : AMMS-6) และการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 (3rd ASEAN Plus Japan Ministerial Meeting on Sports : 3rd AMMS+Japan) ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือด้านกีฬาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งทบทวนและประเมินผลโครงการและกิจกรรมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียนและองค์กรย่อยตามแผนการดำเนินการด้านกีฬาอาเซียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และสายงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากีฬาอาเซียน โดยมีสาระสำคัญของการประชุมสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6
1.1 ประเทศสิงคโปร์ ในฐานะประธานการประชุม ได้รายงานการดำเนินการตามแผนงานอาเซียนด้านกีฬา ปี ค.ศ. 2021 - 2025 รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าของผลลัพธ์การประชุมอาเซียนด้านกีฬา ประกอบด้วย (1) แผนงานอาเซียนด้านกีฬา ปี ค.ศ. 2021 – 2025 (2) การศึกษาวิจัย ASEAN Active Citizens Worldwide เกี่ยวกับคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของกีฬา (3) บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (ASEAN-WADA MOU) และ (4) แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน เรื่อง การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับนักกีฬาอาเซียนในการแข่งขันซีเกมส์ รวมทั้งมีการพิจารณารับรองเอกสาร 4 ฉบับ เพื่อนำไปใช้ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 402 ได้แก่ (1) แผนงานอาเซียนด้านกีฬา ปี ค.ศ. 2021 – 2025 (2) แผนความร่วมมือประจำปี ASEAN-FIFA (3) แถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน เรื่อง การสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับนักกีฬาอาเซียนในการแข่งขันซีเกมส์ และ (4) บันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนกับองค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (ASEAN-WADA MOU)
1.2 รัฐมนตรีกีฬาของประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการกล่าวแถลงการณ์เกี่ยวกับ ความร่วมมืออาเซียนด้านกีฬาภายใต้แผนงานอาเซียนด้านกีฬา ปี ค.ศ. 2021 – 2025 โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มีแถลงการณ์ของเทศไทยถึงแนวนโยบายและโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมด้านการกีฬาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเซื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดย กก. ได้พัฒนาการจัดการแข่งขันกีฬาในรูปแบบการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการจัดกิจกรรมเฉพาะองค์กรตามมาตรการด้านสาธารณสุขส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากแวดวงกีฬานานาชาติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติหลายรายการ อาทิ (1) การแข่งขัน HSBC Badminton World Federation World Tour (2) การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดชิงแชมป์โลกและโอลิมปิก รอบคัดเลือก และ (3) การแข่งขัน Asian Golf Tour 2021 นอกจากนี้ ในด้านนโยบายและ แนวทางการพัฒนาการกีฬาของประเทศไทยในภาพรวม ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กีฬาขั้นพื้นฐาน กีฬามวลชน และกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการกีฬา ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานอาเซียนด้านกีฬา ปี ค.ศ. 2021 - 2025 และแผนความร่วมมือประจำปี ASEAN-FIFA ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 7 และประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ในปี 2565
2. ผลการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3
ประเทศสิงคโปร์ ในฐานะประธานการประชุม รายงานความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นภายใต้แผนงานอาเซียนด้านกีฬา ปี ค.ศ. 2021 – 2025 และได้เน้นย้ำถึงการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประเด็นสตรีในกีฬาและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านกีฬา การส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถสำหรับกิจกรรมต่อต้านการใช้สารต้องห้ามและการส่งเสริมการศึกษาครูพลศึกษาและการกีฬาเพื่อคนพิการ
3. ที่ประชุมได้เสนอร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียนครั้งที่ 6 (Joint Statement of AMMS-6) และร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 (Joint statement of 3rd AMMS+Japan) โดยประเทศไทยได้แจ้งที่ประชุมว่าประเทศไทยสามารถรับรองในหลักการของร่างถ้อยแถลงร่วมทั้ง 2 ฉบับ แต่การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมทั้ง 2 ฉบับ สามารถดำเนินการอย่างเป็นทางการ ได้ในภายหลัง ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมทั้ง 2 ฉบับ สรุปได้ ดังนี้
ชื่อเอกสาร |
สาระสำคัญ |
|
1. ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน ครั้งที่ 6 |
(1) เพื่อสร้างความร่วมมือด้านกีฬาระหว่างประทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งทบทวนแผนการดำเนินการด้านกีฬาอาเซียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน5 ที่ประชุมได้รายงานการดำเนินงานตามแผนงานอาเซียนด้านกีฬา ปี ค.ศ. 2021 – 2025 ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) การสนับสนุนด้านกีฬาเพื่อผลลัพธ์การพัฒนาที่สำคัญและสันติภาพ 2) การส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีผ่านการมีส่วนร่วมในกีฬาและกิจกรรมทางกายภาพ 3) การพัฒนาศักยภาพทางวิชาชีพ ความซื่อสัตย์ในการกีฬา และวิทยาศาสตร์การกีฬา 4) การส่งเสริมความตระหนักของอาเซียนผ่านกิจกรรมกีฬา การท่องเที่ยวเชิงกีฬา และอุตสาหกรรมกีฬา และ 5) การระดมทรัพยากรและการมีส่วนร่วมของพันธมิตร และการติดตามประเมินผลสำหรับความร่วมมืออาเซียนด้านกีฬา (2) ที่ประชุมยินดีกับการจัดตั้งความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับสำนักเลขาธิการเครือจักรภพ(Commonwealth Secretariate6) โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของกีฬาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งการดำเนินการตามกรอบการติดตามและประเมินผลของแผนงานอาเซียนด้านกีฬา ปี ค.ศ. 2021 - 2025 และขอขอบคุณสำนักเลขาธิการเครื่อจักรภพ และองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization : UNESCO) ที่สนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญของแผนงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และแผนปฏิบัติการคาซาน (Kazan Action Plan)7 (3) ที่ประชุมแสดงความยินดีกับการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association: FIFA) ที่ประสบความสำเร็จในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 โดยที่ประชุมได้แสดงความขอบคุณต่อ FIFA และสมาคมฟุตบอลของประเทศสมาชิกอาเซียนสำหรับการสนับสนุนที่เข้มแข็ง ตลอดจนการรณรงค์โครงการสร้างจิตสำนึกสาธารณะในบริบทของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ผ่าน การดำเนินกิจกรรมโดยใช้แฮชแท็ก (Hashtag) ได้แก่ #BeActive #FiveSteps และ #ReachOut พร้อมทั้งมุ่งหวังที่จะร่วมมือกับ FIFA ประกอบด้วย 4 ความร่วมมือหลัก ได้แก่ 1) การส่งเสริมคุณธรรมด้านกีฬา 2) การกีฬาเพื่อการพัฒนา 3) โปรแกรมฟุตบอลสำหรับโรงเรียนของ FIFA และ 4) การสร้างขีดความสามารถอย่างมืออาชีพ (4) ที่ประชุมแสดงความยินดีกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสำหรับความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ปี ค.ศ. 2020 ที่ได้รับเหรียญรางวัล จำนวน 48 เหรียญจากการมีส่วนร่วมของนักกีฬา จำนวน 50 คน จาก 6 ประเทศสมาชิก |
|
3.2 ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 3 |
(1) ที่ประชุมรับทราบถึงความก้าวหน้าในมิตรภาพและความช่วยเหลือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นในปีที่ผ่านมา และยืนยันคำมั่นที่เสริมสร้างความร่วมมือด้านกีฬาระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นนำโดย “แผนการดำเนินงานฉบับปรับปรุงในการแถลงวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน - ญี่ปุ่น : วิสัยทัศน์ร่วมกัน อัตลักษณ์ร่วมกัน อนาคตร่วมกัน” มาดำเนินงาน (2) ที่ประชุมแสดงความชื่นชมในความร่วมมือระหว่างองค์กรต่อต้านการใช้สารเสพติดต้องห้ามในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Regional Anti-Doping Organization : SERRADO) และหน่วยงานต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของญี่ปุ่น (Japan Anti-Doping Agency : JADA) ที่สร้างขีดความสามารถในการต่อต้านการใช้สารกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ปี ค.ศ. 2020 และการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ปี ค.ศ. 2019 (3) ที่ประชุมแสดงความยินดีกับญี่ปุ่นสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ณ กรุงโตเกียว ปี ค.ศ. 2020 ได้ประสบความสำเร็จท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (4) ที่ประชุมแสดงความขอบคุณสำหรับความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นในด้านกีฬาและพึงพอใจในความคืบหน้าของโครงการ ASEAN - Japan Actions on Sports และการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในกีฬาที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงเริ่มดำเนินการด้านกีฬาในระยะที่ 2 ของอาเซียนและญี่ปุ่น โดยเน้นที่การพัฒนาครูและผู้ฝึกสอนพลศึกษาการเพิ่มการมีส่วนร่วมของสตรีในกีฬา การพัฒนากีฬาสำหรับคนพิการ และการรณรงค์ต่อต้านการใช้สารต้องห้ามและการเสริมสร้างศักยภาพ |
_____________________
1องค์ประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีกีฬาอาเซียนและหัวหน้าคณะผู้แทนจากบรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และญี่ปุ่น (ในการประชุมรัฐมนตรีกีฬาอาเซียน - ญี่ปุ่น)
2ประเทศกัมพูชา ในฐานะประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2565 (ค.ศ. 2022) จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3971