การนำเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 29 March 2022 23:35
- Hits: 8077
การนำเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการนำเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ปัจจุบันประเทศไทยมีการแบ่งพื้นที่ป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่ป่าคุ้มครองหลากหลายประเภท เช่น พื้นที่มรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑล อุทยานมรดกแห่งอาเซียน เป็นต้น โดยในส่วนของอุทยานมรดกแห่งอาเซียนในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองแล้วมีจำนวนทั้งหมด 7 แห่ง ได้แก่ (1) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (2) อุทยานแห่งชาติ ตะรุเตา (3) กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน และอ่าวพังงา (4) กลุ่มป่าแก่งกระจาน (อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี) (5) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม – เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง (6) อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และ (7) อุทยานแห่งชาติเขาสก ซึ่งในครั้งนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ขอความเห็นชอบการนำเสนออุทยานแห่งชาติภูกระดึง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวให้เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนเพิ่มเติม ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะโดดเด่นและเป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
- อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่า ตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง เป็นต้น โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด (Mesa) ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ในพื้นที่มีกิจกรรมที่มีเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ คือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา
- เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว – อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า ร้อยละ 96.65 และมีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและลักษณะของถ้ำ โดยพื้นที่ที่มีความโดดเด่น เช่น ถ้ำครอบ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว เป็นต้น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย กระโถนพระฤาษี สนสามพันปี เป็นต้น รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น แมวลายหินอ่อน เลียงผา เนื้อทราย เสือลายเมฆ เป็นต้น นอกจากนี้ ในพื้นที่มีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ประเพณีการแขวนทุง (แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3970