การขอขยายระยะเวลาการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตามพันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 29 March 2022 23:33
- Hits: 7429
การขอขยายระยะเวลาการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตามพันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบการยื่นคำขอขยายระยะเวลาการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตามพันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 3 ออกไปอีก 3 ปี 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569
2. เห็นชอบต่อร่างคำขอขยายระยะเวลาการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลตามพันธกรณีของอนุสัญญาออตตาวา ครั้งที่ 3 ของไทย เพื่อนำส่งผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 ทั้งนี้ ตามขั้นตอนของที่ประชุมรัฐภาคีฯ ไทยยังสามารถปรับปรุงร่างคำขอฯ เพิ่มเติมตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ และคณะกรรมการประจำฯ ที่เกี่ยวข้องก่อนการประชุมรัฐภาคีฯ ให้สมบูรณ์และครบถ้วนมากขึ้น ดังนั้น หากการปรับปรุงร่างคำขอฯ ดังกล่าวไม่กระทบต่อสาระสำคัญที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติข้างต้น ให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือร่วมกันในการปรับปรุงถ้อยคำให้สมบูรณ์เพื่อเสนอที่ประชุมรัฐภาคีฯ พิจารณา และรายงานคณะรัฐมนตรีทราบในโอกาสแรกต่อไป
3. มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการทุนระเบิดแห่งชาติ ศูนย์บัญชาการทางทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติ และแจ้งผลการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กระทรวงการต่างประเทศทราบ เพื่อประโยชน์ในการรายงานต่อฝ่ายเลขานุการอนุสัญญาฯ ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างคำขอขยายระยะเวลาการทำลายทุ่นระเบิดฯ ครั้งที่ 3 ของไทย มีสาระสำคัญ ในภาพรวม โดยสรุป ดังนี้
1. เนื้อหาทั่วไปของคำขอขยายระยะเวลาฯ ประกอบด้วย 1) สรุปสาระสำคัญของการดำเนินการตามพันธกรณี และความคืบหน้าของการดำเนินการตามคำขอขยายระยะเวลาการทำลายทุ่นระเบิดฯ ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 2) เหตุผลที่ไม่สามารถดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ได้แล้วเสร็จตามกำหนด รวมถึงปัญหา อุปสรรคที่พบ แนวทางการรับมือ/แก้ไข และความจำเป็นที่ต้องขยายระยะเวลา และ 3) แผนการดำเนินการในอนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมายของอนุสัญญาฯ พร้อมกรอบเวลาที่คาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จ
2. สรุปความคืบหน้าในการดำเนินการตามพันธกรณี หลังจากที่ไทยได้เริ่มเข้าเป็นรัฐภาคี เมื่อปี 2540 ถึงปัจจุบัน ปรากฏว่าไทยได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและปลดปล่อยพื้นที่แล้วกว่า 2,517 ตารางกิโลเมตร (จากพื้นที่ทุ่นระเบิดที่ประเมินไว้ 2,557 ตารางกิโลเมตร) หรือประมาณร้อยละ 98.5 เหลือพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการเก็บกู้ฯ อีก 40 ตารางกิโลเมตร ใน 7 จังหวัด (สถานะเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564) ซึ่งเมื่อครบกำหนดการขอขยายระยะเวลาฯ ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2566 คาดว่ายังคงเหลือพื้นที่ปนเปื้อนที่ไม่สามารถเข้าดำเนินการเก็บกู้ฯ อีก 14.3 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่รอการปักปันเขตแดน
3. เหตุผลที่ไม่สามารถดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดฯ ได้แล้วเสร็จตามกำหนด ไทยยังคงมีพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดตกค้างตามแนวชายแดนจำนวนมาก ประกอบด้วยพื้นที่ที่ยังไม่ได้จัดทำหลักเขตแดน และพื้นที่เจรจาปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้ข้อยุติ จึงไม่สามารถดำเนินการเก็บกู้ฯ ฝ่ายเดียวได้ การยื่นคำขอขยายระยะเวลาฯ ครั้งที่ 3 นี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดฯ มีเวลาเพียงพอในการดำเนินการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้การเก็บกู้ฯ ในพื้นที่เหล่านี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
4. แผนการดำเนินการในอนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมายของอนุสัญญาฯ
4.1 วิธีการสำรวจและเก็บกู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในอดีตไทยได้เน้นไปที่วิธีการแบบเดิมในการเก็บกู้ฯ โดยการเดินสำรวจพื้นที่ และใช้การสำรวจทางเทคนิค (Technical Survey: TS) ซึ่งใช้เวลา บุคลากร และงบประมาณสูง ต่อมาได้มีการปรับปรุงวิธีดำเนินการ และแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องจนสามารถใช้การสำรวจที่ไม่ใช่ทางเทคนิด (Non - Technical Survey: NTS) ใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น ข้อมูลประวัติศาสตร์ สถิติ การสอบถามจากคนในพื้นที่ เป็นต้น ส่งผลให้การปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4.2 การพัฒนาบุคลากร นอกจากการพัฒนาบุคลากรโดยศูนย์ปฏิบัตการทุ่นระเบิดฯ แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การความช่วยเหลือแห่งประชาชนชาวนอร์เวย์ (Norwegian People's Aid: NPA) ซึ่งได้ให้การสนับสนุนการฝึกอบรมต่างๆ มาโดยต่อเนื่อง เช่น หลักสูตรพัฒนาความพร้อมให้กับหน่วยเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิด (Explosive Ordnance Disposal: EOD) เพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีศักยภาพและความพร้อมมากขึ้นอันส่งผลต่อการเก็บกู้ฯ ที่ปลอดภัย แม่นยำ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
4.3 การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม การใช้การสำรวจที่ไม่ใช่ทางเทคนิค (NTS) โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนและท้องถิ่น ทำให้ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดฯ เข้าถึงและสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันกับชุมชนในพื้นที่เสี่ยงและเพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งสามารถกำหนดพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างชัดเจน ทำให้การปรับลดพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดมีความแม่นยำ และรวดเร็วขึ้น
4.4 การส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคและนานาชาติ ไทยได้บรรจุหัวข้อการเก็บกู้ฯ ในการประชุมด้านความมั่นคงที่สำคัญ อาทิ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers' Meeting Plus: ADMM - Plus) การจัดการฝึกอบรมให้กับประเทศเพื่อนบ้าน และการหารือเพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือด้านการเก็บกู้ฯ บริเวณแนวชายแดนในรูปแบบที่เหมาะสม ตลอดจนแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน โดยการเข้าร่วมในเวทีระหว่างประเทศเหล่านี้ ทำให้ไทยได้รับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนแนวทางการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพของประเทศอื่นๆ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์การเก็บกู้ฯ ของไทย
4.5 การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่รอการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Area to be Demarcated: AD) จากพื้นที่ที่จะต้องดำเนินการเก็บกู้ฯ (สถานะเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564) อีก 40 ตารางกิโลเมตร มีพื้นที่ที่ไทยยังไม่สามารถเข้าไปทำการเก็บกู้ฯ โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนที่มีการปักปันเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้ข้อยุติ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 14.3 ตารางกิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะยังเป็นพื้นที่ปนเปื้อนคงเหลือ เมื่อครบกำหนดการขอขยายระยะเวลาฯ ครั้งที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2566 โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง และแสวงหาแนวทางที่สามารถร่วมมือกันเก็บกู้ฯ ในพื้นที่ต่อไป โดยไม่กระทบกับประเด็นการเจรจาด้านเขตแดน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3969