ร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 March 2022 21:01
- Hits: 4372
ร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 (ร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2) และรับทราบกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ดำเนินการตามร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 รวมทั้งสิ้น 14,326.5403 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. ร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 ที่ สธ. เสนอในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามนัยมาตรา 10 (1) และมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ถือเป็นร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 2 ที่จัดทำขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 25611 ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 1 ที่จะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2565 โดยได้มีการทบทวนสถานการณ์ด้านวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ การประเมินความเสี่ยงภูมิคุ้มกันหรือความเข้มแข็งด้านวัคซีนของประเทศ รวมทั้งทบทวนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ด้านวัคซีนและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเรียบร้อยแล้ว และที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทินฯ) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 พร้อมโครงการและกรอบวงเงินงบประมาณแล้ว โดยมอบให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ (สถาบันวัคซีนแห่งชาติ) ปรับปรุงตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมก่อนเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรีต่อไป
2. สธ. แจ้งว่า แผนดังกล่าวเป็นกรอบในการขับเคลื่อนผลักดันการพัฒนาสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยยึดหลักความสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในหลายประเด็น เช่น ประเด็นที่ 4อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต แผนย่อยอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร อีกทั้งยังมีแนวคิดที่สอดรับกับนโยบายและแผนพัฒนาของชาติ เช่น กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนยุทธศาสตร์ สธ. 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579 (ร่าง) ยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12
3. ร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 มีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน ประชาชนทุกคนในประเทศเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 แผนงาน 67 โครงการ ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) วงเงินรวมทั้งสิ้น 14,326.5403 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การพัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน (จำนวน 15 โครงการ) |
|||||
ตัวอย่างตัวชี้วัด |
- การจัดซื้อจัดหาวัคซีนรูปแบบใหม่ในภาวะปกติ อย่างน้อย 1 ชนิดวัคซีน - การจัดซื้อจัดหาและสำรองวัคซีนในภาวะฉุกเฉินและการสำรองวัคซีนในระดับภูมิภาค จำนวน 1 ระบบ และอย่างน้อย 1 ชนิดวัคซีน - การพิจารณานำวัคซีนใหม่ที่มีความสำคัญทางสาธารณสุขมาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคหรือชุดสิทธิประโยชน์ หรือการเพิ่มจำนวนโดส หรือการเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 1 กลุ่ม |
||||
แนวทางการพัฒนา |
- พัฒนาระบบบริหารจัดการวัคซีนแบบบูรณาการ รองรับประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย - เพิ่มประสิทธิภาพกลไกการนำวัคซีนใหม่บรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค |
||||
โครงการ/หน่วยงาน รับผิดชอบ |
- โครงการสำรองวัคซีนรองรับการระบาด (กรมควบคุมโรค) - โครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน (MR) ในกลุ่มเสี่ยง (กรมควบคุมโรค) - โครงการพัฒนา Big Data ฐานข้อมูลกลางการให้บริการวัคซีนและระบบ PHR ข้อมูลการรับบริการวัคซีนรายบุคคล (สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข) - โครงการพัฒนาระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน (Vaccine Information and Management System : VIMS) (สถาบันวัคซีนแห่งชาติ) |
||||
งบประมาณ (ล้านบาท) |
2,889.7600 |
||||
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 |
|
583.6400 |
575.4100 |
582.4500 |
575.6800 |
572.5800 |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การส่งเสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒนา และอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนอย่างครบวงจร (จำนวน 26 โครงการ) |
|||||
ตัวอย่างตัวชี้วัด |
- วัคซีนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ชนิด ในปี 2570 - วัคซีนสัตว์ต้นแบบ อย่างน้อย 1 ชนิด ในปี 2566 - มาตรการสนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนที่ผลิตในประเทศ อย่างน้อย 2 เรื่อง - แผนความต้องการใช้วัคซีนระยะ 5 ปี เพื่อเตรียมการผลิตรองรับกรณีที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น 1 ฉบับ |
||||
แนวทางการพัฒนา |
- พัฒนาศักยภาพรองรับการวิจัยพัฒนา/การผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยี (1) Viral vector platform (2) Nucleic acid platform (3) Inactivated/Cell-based platform และ (4) Inactivated/Egg-based platform - พัฒนาศักยภาพรองรับการวิจัยพัฒนาวัคซีนสัตว์ - พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการทดสอบในสัตว์ทดลอง - สนับสนุนด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนาวัคซีน - สร้างหลักประกันมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนภายในประเทศ - สนับสนุนการจัดการองค์ความรู้สำหรับผู้ผลิตในประเทศ |
||||
โครงการ/หน่วยงาน รับผิดชอบ |
- โครงการการพัฒนา adenoviral vector platform สำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้นแบบ (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) - โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีฐานสำหรับพัฒนาต้นแบบวัคซีนจาก Viral vectorเพื่อตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) - โครงการการพัฒนาต้นแบบวัคซีนเด็งกี่ (วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengue Vaccine)] เพื่อทดสอบในมนุษย์ (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) - การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อโรต้า (Rotavirus vaccine) (สภากาชาดไทย) - โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ (กรมปศุสัตว์) - โครงการการจัดตั้งโรงงานโดยใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยงในระดับต้นแบบและระดับอุตสาหกรรม (องค์การเภสัชกรรม) - โครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนที่ผลิตในประเทศ (สถาบันวัคซีนแห่งชาติ) |
||||
งบประมาณ (ล้านบาท) |
9,911.3873 |
||||
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 |
|
2,298.2283 |
3,868.8654 |
1,371.3673 |
1,130.4551 |
1,242.4712 |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาศักยภาพบุคลากรรองรับภารกิจความมั่นคงด้านวัคซีน (จำนวน 23 โครงการ) |
|||||
ตัวอย่างตัวชี้วัด |
- หลักสูตรระยะสั้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมวัคซีนหรือหลักสูตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 15 หลักสูตร - บุคลากรด้านการวิจัยพัฒนา และผลิตวัคซีนได้รับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ จำนวน 285 คน |
||||
แนวทางการพัฒนา |
- สนับสนุนความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่จำเป็น และขาดแคลนในงานด้านวัคซีน - สนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่จำเป็นและขาดแคลนในงานด้านวัคซีน |
||||
โครงการ/หน่วยงาน รับผิดชอบ |
- โครงการการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรด้านวัคซีนอย่างครบวงจร (สถาบันวัคซีนแห่งชาติ) - โครงการสร้างความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยวัคซีนทางคลินิก (มหาวิทยาลัยมหิดล) - โครงการการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (องค์การเภสัชกรรม) |
||||
งบประมาณ (ล้านบาท) |
315.8930 |
||||
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 |
|
71.4348 |
60.6438 |
64.8558 |
61.9568 |
57.0018 |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ (จำนวน 3 โครงการ) |
|||||
ตัวอย่างตัวชี้วัด |
- จำนวนโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานด้านวัคซีนไม่น้อยกว่าปีละ 1 โครงการ - จำนวนโครงการความร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้รับทุนสนับสนุนหรือร่วมให้ทุนการพัฒนางานด้านวัคซีน ไม่น้อยกว่าปีละ 2 โครงการ |
||||
แนวทางการพัฒนา |
- สร้างกลไกด้านการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันของเครือข่ายด้านวัคซีน - สนับสนุนงบประมาณ ข้อมูลเชิงลึกทั้งด้านเทคนิคและวิชาการแก่เครือข่ายด้านวัคซีน |
||||
โครงการ/หน่วยงาน รับผิดชอบ |
- โครงการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนโดยความร่วมมือกับเครือข่ายด้านวัคซีน (สถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) - โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาวัคซีน การรักษา การวินิจฉัย สำหรับโรคอุบัติใหม่และตอบโต้อาวุธชีวภาพ เพื่อความมั่นคงของประเทศ (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร) |
||||
งบประมาณ (ล้านบาท) |
1,209.5000 |
||||
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 |
|
325.3640 |
218.7000 |
224.8000 |
212.9360 |
227.7000 |
|
ทั้งนี้ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 เป็นรายปีพร้อมจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อความสำเร็จของการดำเนินงานที่ไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย รวมทั้งสรุปผลการดำเนินงานภายหลังจากสิ้นสุดแผนระยะ 5 ปี และประเมินผลกระทบในภาพรวม และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
4. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างแผนดังกล่าวแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 11/2564 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564รวมทั้งมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น (1) ควรมีการวางเป้าหมายทั้งระบบ โดยเน้นที่ความมั่นคงด้านวัคซีนเป็นลำดับแรก และมีเป้าหมายเรื่องการพัฒนาวัคซีนมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออกให้กับประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (2) ควรพิจารณาวางยุทธศาสตร์ร่วมกับแผนและการดำเนินงานอื่นๆ ที่มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกันและสามารถต่อยอดร่วมกันได้ เช่น ยาชีววัตถุ (biologics) (3) ควรควบรวมการพัฒนาวัคซีนสำหรับมนุษย์และวัคซีนสำหรับสัตว์ เนื่องจากในอนาคตจะอยู่บนฐานการใช้เทคโนโลยีเดียวกันหรือมีลักษณะคล้ายกัน (4) ควรพิจารณาเรื่องการร่วมลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนสำหรับตอบสนองกลุ่มโรคประจำถิ่นของภูมิภาคอาเซียน และ (5) ควรต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและแอปพลิเคชันจากสถานการณ์โควิด 19 ทั้งช่องทางการสื่อสาร ระบบข้อมูลลงทะเบียน ข้อมูลการฉีดวัคซีนของประชาชน บนฐานการทำให้เป็นระบบเดียวที่เป็นเอกภาพและมีความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ สธ. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสภาพัฒนาฯ เรียบร้อยแล้ว
_____________________
1พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3774