ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 March 2022 18:53
- Hits: 6393
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่และภาพรวม ปี 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ (เดือนตุลาคม–เดือนธันวาคม) และภาพรวมปี 2564 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (5) ที่บัญญัติให้ สศช. รายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสี่ (เดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม) และภาพรวม ปี 2564 สรุปได้ ดังนี้
1.1 สถานการณ์แรงงานไตรมาสสี่ ปี 2564 พบว่า เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยอัตราการมีงานทำเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสสอง (เดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน) ของปี 2563 ส่วนภาพรวมปี 2564 การจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1.1 สถานการณ์แรงงานไตรมาสสี่ ปี 2564 ภาพรวมการจ้างงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 37.9 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการมีงานทำ อยู่ที่ร้อยละ 98.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน (เดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน) ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 97.6 และเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (ปี 2563) ที่ร้อยละ 98.0 สะท้อนสถานการณ์การจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 2.1 ทั้งนี้ การว่างงานลดลงต่ำสุดตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.64 ต่ำที่สุดตั้งแต่ไตรมาสสอง (เดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน) ของปี 2563 มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 6.3 แสนคน ขณะที่แรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และการว่างงานในระบบปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ สัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนมาตรา 33 อยู่ที่ร้อยละ 2.27 ซึ่งลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
1.1.2 สถานการณ์แรงงานปี 2564 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.93 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.69 อย่างไรก็ตาม การว่างงานในระบบที่สะท้อนจากผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
1.13 ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการแพร่ระบาด โดยต้องเน้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นและเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ที่มีการจ้างงานมากกว่า 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดรวมทั้งการสร้างงานในระดับชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในระดับพื้นที่ (2) การขยายตัวของแรงงานนอกระบบที่เพิ่มขึ้น (การทำธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างและการช่วยธุรกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง) ควรมีมาตรการจูงใจให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน เพื่อให้มีหลักประกันที่มั่นคง (3) ภาระค่าครองชีพของประชาชนจากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงไตรมาสสามและสี่ของปี 2564 จึงต้องมีการติดตามระดับราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด และ (4) การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะ/การปรับเปลี่ยนทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่นเพื่อให้แรงงานสามารถยกระดับหรือปรับเปลี่ยนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม
1.2 หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสาม (เดือนกรกฎาคม-เดือนกันยายน) ปี 2564 ขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่ต้องเฝ้าระวังการเกิดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPLs) เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ต่อสินเชื่อรวม มีแนวโม้มเพิ่มสูงขึ้น โดยไตรมาสสาม ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.35 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 แต่ชะลอลงจากไตรมาสก่อน (เดือนเมษายน-เดือนมิถุนายน) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.1 คิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) อยู่ที่ร้อยละ 89.3 ซึ่งคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLS) คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.89 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.92
ในระยะถัดไปหนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยมีสาเหตุจาก (1) ครัวเรือนที่มีรายได้สูงหรือ ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตยังมีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อยานยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยและ (2) ประชาชนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ (1) การเร่งดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งยังมีปัญหาในกลุ่มลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ได้รับการช่วยเหลือเพียงการชะลอการชำระหนี้แบบชั่วคราว เช่น การขยายระยะเวลาและการพักชำระหนี้ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม (2) การส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเพื่อไม่ให้ครัวเรือนมีภาระหนี้มากเกินไป และ (3) การส่งเสริมให้ครัวเรือนได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน
1.3 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังในไตรมาสสี่และภาพรวมของปี 2564 ลดลงและสถานการณ์สุขภาพจิตมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง โดยไตรมาสสี่ ปี 2564 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลง ร้อยละ 67.9 เป็นการลดลงในทุกโรคโดยเฉพาะโรคมือ เท้า ปาก ส่งผลให้ภาพรวมปี 2564 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 54.5 ซึ่งเป็นผลจากการที่ประชาชนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมลดลงและรักษาสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง ส่วนสถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้นแต่มีกลุ่มคนที่คิดว่าตนเองเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าประมาณร้อยละ 46 นอกจากนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 ของประชากรวัยเด็กที่ยังมีสัดส่วนการได้รับวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและประชากรกลุ่มเปราะบางที่อาจยังไม่ได้รับวัคซีนอย่างเพียงพอจึงจำเป็นต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น
1.4 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ในไตรมาสสี่เพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมทั้ง ปี 2564 ลดลง โดยไตรมาสสี่ ปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ซึ่งเป็นการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และการบริโภคบุหรี่ลดลง ร้อยละ 2.0 ส่วนภาพรวมปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.8 เนื่องจากมาตรการปิดสถานบริการและสถานบันเทิง รวมทั้งมาตรการจำกัดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังต้องเฝ้าระวังการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประเด็นการผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน เนื่องจากมีงานศึกษาพบว่าผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้สูบทั้งบุหรี่แบบเดิมและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงมากขึ้น
1.5 คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยไตรมาสสี่ ปี 2564 คดีอาญาในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 43.7 ซึ่งคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.6 คดี ประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.9 และคดีชีวิต ร่างกาย และเพศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 ส่วนภาพรวมปี 2564 คดีอาญาในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ร้อยละ 41.5 โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.4 สูงสุดในรอบ 8 ปี คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 และคดีชีวิตร่างกายและเพศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง ได้แก่ คดียาเสพติด ซึ่งปัจจุบันขบวนการค้ายาเสพติดมีการปรับปรุงรูปแบบการสั่งซื้อและขนส่งที่หลากหลายมากขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ยาก และการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์มีการก่อคดีเพิ่มขึ้นมากถึง 3.3 เท่าในปี 2564 จึงควรนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการป้องปรามและเพิ่มการตรวจตราเพื่อลดโอกาสก่อเหตุ
1.6 การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง ในไตรมาสสี่ ปี 2564 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตลดลง ร้อยละ 4.9 และ 19.7 ตามลำดับ ส่วนภาพรวมปี 2564 ผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 10.2 ผู้บาดเจ็บรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 โดยรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดซึ่งสาเหตุหลักมาจากบุคคล จึงต้องใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดข้อบังคับทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน
1.7 การรับเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลดลง ขณะที่การรับเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เพิ่มขึ้น ในไตรมาสสี่ ปี 2564 สคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนสินค้าและบริการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.2 โดยเป็นการร้องเรียนสินค้าและบริการทั่วไปมากที่สุด ขณะที่การร้องเรียนผ่านสำนักงาน กสทช. เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 280.8 โดยส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด ส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2564 มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญคือการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งพบปัญหาความไม่คุ้มค่าและสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือใกล้หมดอายุ รวมทั้งยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลอย่างชัดเจน ทั้งนี้ สคบ. อยู่ระหว่างการพิจารณาการออกกฎหมายเพื่อควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา พร้อมทั้งจะขยายผลไปถึงการดูแลเรื่องการเสนอขายสินค้าในรูปแบบไลฟ์สด รีวิว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น
2. สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ
2.1 โลกเสมือน (Metaverse) กับโอกาสใหม่ของประเทศไทย Metaverse เป็นการยกระดับการติดต่อสื่อสารหรือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจากเดิมที่ใช้บริการผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน เป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ใกล้เคียงกับโลกความจริงมากขึ้น ประกอบด้วย (1) โลกเสมือน (Extended Reality: XR) เป็นสภาพแวดล้อมที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้ร่วมกัน (2) เทคโนโลยีด้านการรับรู้ ซึ่งผู้ใช้งานโลกเสมือนจำเป็นต้องมีเทคโนโลยี VR (Virtual Reality) ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถรับรู้ได้สมจริงและเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่รวมสภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือนเข้าด้วยกัน (3) ระบบการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วยการมีตัวแทน (Avatar) ของผู้ใช้บริการดิจิทัลเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมในโลกเสมือนระบบและสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ต้องมีทรัพย์สินทางดิจิทัล และ (4) โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและระบบการประมวลผลและความปลอดภัย ซึ่งทำให้ Metaverse สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น ด้านธุรกิจที่สามารถขายของได้โดยไม่ต้องมีหน้าร้านและด้านการทำงานที่ช่วยปรับปรุงรูปแบบการทำงานแบบทางไกลให้ผู้ใช้รับรู้ถึงการมีตัวตนกับเพื่อนร่วมงานจริงเสมือนอยู่ในสำนักงาน
ในส่วน Metaverse ในไทย จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามร่างแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ทั้งนี้ ไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จาก Metaverse ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้ (1) โอกาสที่คนไทยและธุรกิจจะเข้าถึงอย่างครอบคลุมเนื่องจากอุปกรณ์ในการเข้าถึงมีราคาสูงภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีและทักษะด้านดิจิทัลของคนไทยมีไม่สูง (2) การส่งเสริมการพัฒนาแรงงานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ปัจจุบันการผลิตกำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยยังมีข้อจำกัด แต่คาดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ความต้องการในสายงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง (3) ความเร็วและความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ต โดย Metaverse จำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แต่การให้บริการอินเทอร์เน็ต 5G ของไทยยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ (4) กฎหมายที่มีความชัดเจนเพื่อการกำกับดูแล เนื่องจาก Metaverse ไม่มีขอบเขตทางกายภาพที่แน่นอน ทำให้การกระทำผิดไม่สามารถระบุสถานที่ได้อย่างชัดเจนและไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ อีกทั้งการทำธุรกรรมบน Metaverse ที่ต้องใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ไทยยังไม่มีการกำหนดให้สามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ และ (5) ความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งผู้ใช้บริการจำเป็นต้องมีการป้องกันที่รัดกุมและระมัดระวังข้อมูลส่วนบุคคล
2.2 คนไร้บ้าน : แนวทางการยกระดับความเป็นอยู่ให้พึ่งพาตนเองได้ในสังคมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนคนไร้บ้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 โดยจากการสำรวจคนไร้บ้าน 5 เขต ในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2556-2563 พบว่า คนไร้บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ต่อปี โดยมีการแก้ปัญหาและให้การช่วยเหลือคนไร้บ้าน ดังนี้ (1) ภาครัฐ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีกลไกการช่วยเหลือผ่านศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและ (2) หน่วยงานเอกชน เช่น เครือข่ายคนไร้บ้านและมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งให้ความช่วยเหลือในลักษณะศูนย์พักพิงและการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ส่วนปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ เช่น (1) การไม่ทราบสถานการณ์คนไร้บ้านที่ชัดเจน (2) การมีทักษะต่ำทำให้ประกอบอาชีพได้เพียงขั้นพื้นฐานและมีรายได้ ไม่เพียงพอต่อการพึ่งพาตนเองทำให้มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นคนไร้บ้านซ้ำ และ (3) เงื่อนไขหรือกฎระเบียบทำให้เข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานของรัฐได้จำกัดและเข้าถึงมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐได้ยาก ทั้งนี้ การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ควรมีแนวทาง เช่น (1) จัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางและคนไร้บ้านที่ครอบคลุมและมีการปรับปรุงข้อมูลอย่างต่อเนื่อง (2) แก้ไขปัญหาคนไร้บ้านโดยบูรณาการการช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและเอกชน และ (3) การปรับรูปแบบสวัสดิการปรับเงื่อนไขหรือระเบียบในการเข้ารับสวัสดิการโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข
2.3 ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยจากมุมมองของบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ (National Transfer Account: NTA) ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 1 ปีข้างหน้า และอัตราการเกิดมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายหรือมาตรการสำหรับรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดย NTA จะนำรายได้ประชาชาติผนวกเข้ากับโครงสร้างอายุของประชากร ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถสะท้อนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรได้อย่างรอบด้าน ทั้งนี้ ผลการศึกษา NTA ในปี 2562 พบว่า (1) ภาพรวมคนไทยมีรายได้จากการทำงานต่ำกว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่เกิดขึ้นตลอดช่วงวัย (ขาดดุลรายได้) เฉลี่ยประมาณ 3 หมื่นบาทต่อคน ขณะที่การออมของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ (2) ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศเนื่องจากประชากรวัยแรงงานลดลง (3) การเป็นสังคมสูงวัยมากขึ้นจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้เศรษฐกิจหดตัว โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.5 ต่อปี และ (4) วัยแรงงานต้องหารายได้เพื่อดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และตนเอง คิดเป็นมูลค่า 7.7 ล้านบาท และจากผลการศึกษาข้างต้นมีประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการ เช่น (1) การเตรียมความพร้อมด้านทักษะของเด็กให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศ (2) การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของครัวเรือนทั้งการเพิ่มระดับการออมของครัวเรือนและการวางแผนเกษียณ และ (3) การปรับปรุงระบบการคลังของประเทศเพื่อสร้างสมดุลทางการคลังและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
3. บทความเรื่อง “เสียงของ SMEs ภาคการท่องเที่ยว : การปรับตัวและความเห็นต่อการช่วยเหลือของรัฐ” การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่ GDP ลดลงมากถึงร้อยละ 47 ทั้งนี้ สศช. ได้สำรวจ เรื่อง การปรับตัวของแรงงานและผู้ประกอบการ SMEs จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภาคการท่องเที่ยวที่เปิดดำเนินกิจการอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน 2564 โดยพบผลการสำรวจที่สำคัญ เช่น (1) รายได้ผู้ประกอบการที่ลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินและการมีหนี้สิ้นเพิ่มขึ้น (2) พื้นฐานทางการเงิน ต้นทุนคงที่ในการดำเนินธุรกิจ และความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเป็นปัจจัยสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ และ (3) เทคโนโลยีมีความจำเป็นต่อความอยู่รอดในการประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ พบว่า (1) ประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในระดับปานกลาง (2) มาตรการประกันสังคมและการกระตุ้นกำลังซื้อผ่านโครงการคนละครึ่งเป็นมาตรการที่กลุ่มแรงงานส่วนใหญ่เข้าถึง และ (3) การจัดการปัญหาโควิดเกี่ยวกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวของภาครัฐยังไม่ดีพอ นอกจากนี้ ควรมีมาตรการรับมือในภาคการท่องเที่ยว ดังนี้ (1) การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องและลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ/แรงงาน (2) การส่งเสริมการท่องเที่ยว และ (3) การส่งเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมเพื่อการท่องเที่ยว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3770