ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการการบริหารจัดการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของกองบัญชาการต
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 March 2022 15:18
- Hits: 6015
ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการการบริหารจัดการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 331.59 ล้านบาท สำหรับจัดทำโครงการการบริหารจัดการ Organizational Quarantine (OQ) สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตช. รายงานว่า
1. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ตช. ได้มอบหมายให้ บช.ตชด. จัดทำโครงการ OQ สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยใช้พื้นที่ของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เป็นสถานที่ควบคุมแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง เพื่อเข้าสู่มาตรการการคัดกรองและควบคุมโรคติดต่อและเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กันยายน 2564) มีคนไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ารับการกักตัวแล้ว จำนวน 2,999 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม 2565) โดยศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศปก.ศบค.) และศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธาน ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 และมีมติรับทราบข้อมูลการกักตัวในสถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร (OQ) ของ ตชด. โดยให้ ตชด. ขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้ หากกระทรวงแรงงานมีแรงงานตามบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานจำนวนมากอาจขอใช้ประโยชน์จาก ตชด. ได้
2. ตช. เห็นว่า ภารกิจในการจัดทำโครงการ OQ สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองในพื้นที่กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน (กองร้อยฯ) เป็นภารกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่ง ตช. (บช.ตชด.) ได้จัดทำสถานที่เพื่อควบคุมแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองและนำเข้าสู่มาตรการการคัดกรองและควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ไปสู่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ สาระสำคัญของโครงการ OQ สำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองสรุปได้ ดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์
2.1.1 เพื่อเป็นการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ทั้งคนไทยและคนต่างด้าวทั้งระบบ (ควบคุม/คัดกรอง/ป้องกัน) จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
2.1.2 เพื่อเป็นการควบคุมดูแลและป้องกันคนไทยในประเทศจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จากกรณีคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทย
2.2 แนวทางการปฏิบัติ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระที่สำคัญ |
|
องค์ประกอบด้าน สถานที่กักกันโรค |
1. อาคารกองร้อยหน่วยกำลังในหน่วย ตชด. จำนวน 14 แห่ง* (เข้ากักกันตัวได้ครั้งละ 50 คน/1 กองร้อย/1 รอบ) 2. อาคารเต็นท์สนามขนาด 250 เตียง จำนวน 14 แห่ง (เข้ากักกันตัวได้ครั้งละ 250 คน/1 กองร้อย/1 รอบ) 3. จัดทำแนวเขตแสดงอาณาบริเวณพื้นที่ควบคุม (รั้วลวดหนามและช่องทางเข้าออกทางเดียว) และระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง (เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กล้อง CCTV และไฟฟ้าส่องสว่าง) เพื่อป้องกันการหลบหนีการควบคุม 4. มีพื้นที่บริการด้านการแพทย์และการบริหารจัดการในพื้นที่ควบคุมอย่างชัดเจน ได้แก่ เต็นท์บริการด้านการแพทย์ เต็นท์กองอำนวยการ/ศูนย์ประสาน เต็นท์เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เต็นท์ประกอบอาหาร เป็นต้น 5. มีพื้นที่ประกอบอาหารให้กับผู้เข้ารับการกักกันและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและการบริการด้านน้ำดื่มเครื่องดื่มตามความเหมาะสมที่เพียงพอต่อความต้องการ 6. มีระบบสาธารณูปโภครองรับผู้เข้ารับการกักกันที่เพียงพอ ได้แก่ ระบบน้ำดื่มน้ำใช้ ห้องน้ำ ห้องสุขา และรถสุขาเคลื่อนที่ เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตและการบริการอื่นๆ 7. มีระดับการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม การบำบัดน้ำเสีย และการจัดการขยะติดเชื้อที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข |
|
องค์ประกอบของเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่กักกันโรค |
1. ผู้บังคับกองร้อยฯ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และปลัดอำเภอในพื้นที่และสาธารณสุขอำเภอ เป็นรองผู้บัญชาการเหตุการณ์ 2. เจ้าหน้าที่ติดตามและบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3. เจ้าพนักงานโรคติดต่อและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประจำสถานที่กักกันตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนดมอบหมาย 4. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย |
|
แผนการปฏิบัติและหน่วยรับผิดชอบการปฏิบัติงานในสถานที่กักกันโรค |
1. การรักษาความปลอดภัยสถานที่ : กองร้อยฯ รับผิดชอบจัดกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบสถานที่กักกันโรค แยกเป็น (1) อาคารกองร้อยหน่วยกำลังในหน่วย ตชด. จำนวน 3 จุด และช่องทางเข้าออก จำนวน 1 จุด รวมเป็น 4 จุด ใช้กำลังพลจำนวน 12 นาย/วัน (2) เต็นท์สนาม จำนวน 3 จุด และช่องทางเข้าออกจำนวน 1 จุด รวมจำนวน 4 จุด ใช้กำลังพล จำนวน 24 นาย/วัน 2. การปฏิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุข : สาธารณสุขอำเภอในพื้นที่รับผิดชอบจัดทีมติดตามและบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รับผิดชอบติดตาม ตรวจสอบป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และงานด้านการแพทย์ (หมุนเวียนสับเปลี่ยนวงรอบละ 8 ชั่วโมง/ผลัด) 3. ชุดล่ามแปลภาษา : แรงงานจังหวัดรับผิดชอบจัดเจ้าหน้าที่ชุดล่ามแปลภาษาประจำสถานที่กักกันโรคตลอด 24 ชั่วโมง 4. การสนับสนุนการปฏิบัติด้านอื่นๆ : อำเภอและหน่วยงานในพื้นที่จัดเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานประจำศูนย์ประสานงานกักกันโรคหมุนเวียนสับเปลี่ยนวงรอบละ 8 ชั่วโมง/ผลัด |
2.3 ระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน (เดือนตุลาคม 2564 - กันยายน 2565) โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 331.59 ล้านบาท (งบดำเนินงาน) สรุปได้ ดังนี้
รายการ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
1. ค่าใข้จ่ายในส่วนของอาคารกองร้อยหน่วยกำลังในหน่วย ตชด. จำนวน 14 แห่ง |
142.11 |
2. ค่าใช้จ่ายในส่วนของอาคารเต็นท์สนาม ขนาด 250 เตียง จำนวน 14 แห่ง |
189.48 |
รวมทั้งสิ้น |
331.59 |
หมายเหตุ : ค่าใช้จ่ายตามข้อ 1 และข้อ 2 เช่น ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ ค่าทำลายขยะ ค่าซักเครื่องนอน ค่าถุงมือยาง และค่าหน้ากากอนามัย เป็นต้น |
____________________________
* โครงการ OQ จะดำเนินการในพื้นที่กองร้อยฯ จำนวน 14 แห่ง ใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี (2 แห่ง) จังหวัดสระแก้ว (2 แห่ง) จังหวัดกาญจนบุรี (1 แห่ง) จังหวัดราชบุรี (1 แห่ง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (1 แห่ง) จังหวัดหนองคาย (1 แห่ง) จังหวัดเชียงราย (1 แห่ง) จังหวัดตาก (3 แห่ง) จังหวัดระนอง (1 แห่ง) และจังหวัดสงขลา (1 แห่ง)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3766