มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 March 2022 15:10
- Hits: 5748
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
1. โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan Extra (โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra) เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พร.ก. Soft Loan) ที่ใกล้จะครบกำหนด 2 ปี ยังคงได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องและป้องกันมิให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะเป็นการประคับประคองกิจการและพยุงการจ้างงานภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง (ขอรับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง จำนวน 15,750 ล้านบาท)
2. การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 (เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม) เพื่อปรับปรุงการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส (โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส) (ขอรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 104.27 ล้านบาท)
รวมถึงอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 15,854.27 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อดำเนินโครงการ ตามข้อ 1 และข้อ 2 พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค.รายงานว่า
1. พ.ร.ก. Soft Loan ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจของประเทศในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 โดย ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan คงเหลือ 69,082 ราย วงเงินสินเชื่อจำนวน 128,865 ล้านบาท และมีลูกหนี้จำนวน 60,838 ราย คิดเป็นร้อยละ 88 ของลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ซึ่งจะครบกำหนดภายในเดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ การระบาดของโรคโควิด 19 ยืดเยื้อและยาวนานเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้น เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ที่จะเริ่มครบกำหนด 2 ปี และต้องชำระเงินกู้ทั้งจำนวนตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ให้ได้รับสินเชื่ออย่างต่อเนื่องและป้องกันมิให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง กค. จึงขอเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ซึ่งประกอบด้วยโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra และการปรับปรุงการดำเนินโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra (โครงการใหม่) มีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข |
รายละเอียด |
|
วัตถุประสงค์ |
เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ที่จะครบกำหนดเวลาการชำระหนี้คืนให้ยังคงได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถประคับประคองกิจการและพยุงการจ้างงานภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอน โดยคาดว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 67,400 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 84,000 ล้านบาท |
|
กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย |
ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan |
|
วงเงินค้ำประกันรวม |
90,000 ล้านบาท |
|
อายุการค้ำประกัน |
ไม่เกิน 8 ปี |
|
วงเงินค้ำประกันสินเชื่อต่อราย |
ไม่เกินยอดสินเชื่อคงค้างล่าสุด หรือไม่เกินวงเงินสินเชื่อในกรณีเป็นสินเชื่อประเภทหมุนเวียนตาม พ.ร.ก. Soft Loan |
|
ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ |
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566 |
|
ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ |
ร้อยละ 1.75 ต่อปี เมื่อเริ่มค้ำประกันในต้นปีที่ 1 ตลอดอายุการค้ำประกันโครงการ โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ใน 2 ปีแรก ในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกัน (รวมร้อยละ 1.5) |
|
การขอรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจากรัฐบาล |
บสย. ขอรับการชดเชยความเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริงเป็นเงินจำนวน 15,750 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1) เงินชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 16 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันโครงการ จำนวน 14,400 ล้านบาท (ร้อยละ 16 ของ 90,000 ล้านบาท) และ 2) เงินชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 1,350 ล้านบาท (ร้อยละ 1.5ของวงเงิน 90,000 ล้านบาท) หมายเหตุ : ประมาณการรายจ่ายตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 27,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1) งบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 15,750 ล้านบาท และ 2) รายได้ของ บสย. จำนวน 11,250 ล้านบาท |
|
การจ่ายค่าประกันชดเชยให้แก่สถาบันการเงิน |
1) บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกินค่าธรรมเนียมรับตลอดอายุการค้ำประกันของโครงการ ร้อยละ 14 รวมกับงบประมาณการจ่ายชดเชยที่ได้รับการเบิกจ่ายจากรัฐบาลร้อยละ 16 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันโครงการ คิดเป็นระดับการจ่ายค่าประกันชดเชยไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันโครงการ 2) บสย. จะรับผิดชอบในการจ่ายค่าประกันชดเชยภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ออกหนังสือค้ำประกัน 3) สถาบันการเงินที่ได้รับการจ่ายชดเชยตาม พ.ร.ก. Soft Loan แล้ว ไม่สามารถขอรับค่าประกันชดเชยตามหนังสือค้ำประกัน บสย. ได้อีก |
1.2 การปรับปรุงการดำเนินโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส เนื่องจากปัจจุบันได้สิ้นสุดระยะเวลาการขอรับสินเชื่อโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัสภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 แล้ว โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับการค้ำประกันภายใต้โครงการดังกล่าว จำนวน 4,726 ราย วงเงินค้ำประกัน 6,951 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อการบรรเทาภาระให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส ที่ต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2565 ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีความไม่แน่นอนและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการเก็บค่าธรรมเนียมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan Extra (ตามข้อ 1.1) กค. จึงเห็นควรให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 (เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม) เพื่อปรับปรุงการดำเนินการโครงการ PGS ระยะพิเศษ Soft Loan พลัส จากเดิม ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ ในต้นปีที่ 3 ร้อยละ 1.75 ต่อปี เป็น ให้รัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ร้อยละ 0.75 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี (ปีที่ 3 และปีที่ 4 นับจากวันที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan โดยผู้ประกอบการ SMEs จะรับภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมเหลือเพียงร้อยละ 1 ต่อปี) ดังนั้น บสย. จะขอรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 104.27 ล้านบาท (ร้อยละ 1.5 ของวงเงินอนุมัติค้ำประกันโครงการ จำนวน 6,951 ล้านบาท)
2. กค. (บสย.) ได้จัดทำรายละเอียดการดำเนินการตามมาตรา 27 และมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อประกอบการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว โดยในส่วนของการดำเนินการตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กค. แจ้งว่า ณ สิ้นวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ภาระที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมียอดคงค้างจำนวน 1,045,086.12 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 33.71 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (วงเงิน 3,100,000 ล้านบาท) ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ บสย. ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan จำนวน 15,854.27 ล้านบาท จะส่งผลให้ภาระที่รัฐบาลต้องรับชดเชย ซึ่งเมื่อรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีด้วยแล้ว จะมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,060,940.39 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 34.22 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งยังคงไม่เกินอัตราร้อยละ 35 ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการดำเนินโครงการดังกล่าว บสย. จะจัดทำบัญชีสำหรับการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ได้รับมอบหมายแยกต่างหากจากบัญชีการดำเนินงานทั่วไป พร้อมทั้งเสนอรายงานผลการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายและผลสัมฤทธิ์ต่อรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3765