ขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์โควิด 19
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 March 2022 15:02
- Hits: 5397
ขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์โควิด 19
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (งบกลางฯ) จำนวน 811.77 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า [กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (สมาชิก อส.)] ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ของกรมการปกครอง จำนวน 270,590 คน ในอัตรา 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 6 เดือน (เดือนตุลาคม – มีนาคม 2565) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
มท. รายงานว่า
1. มท. (กรมการปกครอง) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ และมีกลไกการบริหารราชการเพื่อ “บำบัดทุกข์บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนทั่วประเทศตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน มท. จึงเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาและบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาโดยตลอด ซึ่งกรมการปกครองมีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์โควิด 19 ได้แก่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดเข้าสู่ตำบล หมู่บ้าน รวมทั้งสมาชิก อส. ที่มีหน้าที่ช่วยเหลือและสนับสนุนการรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องตามนโยบายของรัฐบาลและ มท.
2. ผลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 - ปัจจุบัน สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
ผลการปฏิบัติงาน |
|
1. การควบคุมการเดินทางเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ตอนใน |
1) พื้นที่ชายแดน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าร่วมปฏิบัติงานเฝ้าระวังตรวจตรา สอดส่องดูแลมิให้มีการลักลอบเข้าประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย 2) พื้นที่ตอนใน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าร่วมกันตั้งด่าน จุดตรวจ/จุดสกัดดูแลการสัญจรข้ามพื้นที่จังหวัด และภายในจังหวัดของประชาชนรวมทั้งสำรวจ ตรวจสอบ และคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชนโดยบันทึกข้อมูลในระบบ “Thai Quarantine Monitor 2021” ของ มท.เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาบริหารความช่วยเหลือประชาชนทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว |
|
2. การสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 |
โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าร่วมจัดเตรียมสถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ในสถานที่ราชการและเอกชนที่มีความพร้อมตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการวางระบบการลงทะเบียนฉีดวัคซีนร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) |
|
3. การสนับสนุนจังหวัดและอำเภอในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม |
โดยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าร่วมสนับสนุนจังหวัดและอำเภอในการจัดตั้ง - โรงพยาบาลสนาม จำนวน 466 แห่ง รองรับได้ 45,797 เตียง - สถานที่กักกันตัวแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัด จำนวน 4,207 แห่ง รองรับได้78,114 เตียง - สถานที่กักกันตัวทางเลือก จำนวน 129 แห่ง รองรับได้ 19,143 เตียง - ที่พักคอย จำนวน 1,198 แห่ง รองรับได้ 33,010 เตียง - สถานที่แยกกักตัวในชุมชน จำนวน 4,133 เตียง รองรับได้ 116,834 เตียง |
|
4. อื่นๆ เช่น |
- ควบคุมดูแลการเดินทางรับ - ส่ง ผู้ติดเชื้อที่มีความต้องการกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลภูมิลำเนา รวม 20,516 คน - กวดขันการลักลอบเล่นการพนัน การเปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือมาตรการควบคุมโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มและลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 - ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เชิงรุกแก่ประชาน |
3. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของกรมการปกครองต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานด้วยความอดทน เสียสละ เสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตต่อการติดโรคโควิด 19 ประกอบกับกรมการปกครองไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้า และไม่สามารถปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณมาดำเนินการได้ จึงจำเป็นต้องเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลางฯ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ตำแหน่ง |
จำนวน (คน) |
ขอรับการจัดสรร |
||
อัตรา/เดือน |
จำนวน |
งบประมาณ (ล้านบาท) |
||
กำนัน |
6,288 |
500 บาท |
6 เดือน (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) |
18.86 |
ผู้ใหญ่บ้าน |
60,481 |
181.44 |
||
แพทย์ประจำตำบล |
5,845 |
17.54 |
||
สารวัตรกำนัน |
12,416 |
37.25 |
||
ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน |
159,029 |
477.09 |
||
สมาชิก อส. |
26,531 |
79.59 |
||
รวมทั้งสิ้น |
270,590 |
811.77 |
4. มท. ชี้แจงว่า กรมการปกครองเคยได้รับการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 จำนวน 677.79 ล้านบาท สำหรับเบิกจ่ายเป็นเงินเพิ่มพิเศษรายเดือนให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในอัตราเดือนละ 500 บาท/คน/เดือน และแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในอัตราเดือนละ 300 บาท/คน/เดือน โดยไม่ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับสมาชิก อส. ซึ่งต่างจากการเสนอขอรับการจัดสรรในครั้งนี้ เนื่องจาก
4.1 ประเด็นการขอรับการจัดสรรในอัตรา 500 บาท/คน/เดือน เท่ากันทุกตำแหน่ง : เพื่อเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและให้เกิดความเสมอภาคระหว่างบุคลากรที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ซึ่งทุกตำแหน่งได้ปฏิบัติงานด้วยความอดทน เสียสละ เท่าเทียมกัน จึงพิจารณาเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเทียบเท่ากับ อสม. [คณะรัฐมนตรีเคยมีมติ (8 กุมภาพันธ์ 2565) อนุมัติการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลางฯ ภายใต้โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของ อสม. จำนวน 1.05 ล้านคน ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด 19 ในชุมชน วงเงินจำนวน 3,150.92 ล้านบาท ในอัตรา 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565)]
4.2 ประเด็นการขอรับการจัดสรรให้แก่สมาชิก อส. : สมาชิก อส. มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและกองกำลังประจำถิ่นที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ประจำการทำให้มีความเข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยสมาชิก อส. เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์โควิด 19 ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ โดยเฉพาะมิติการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายใน ได้แก่ การสกัดกั้นการลักลอบเข้าประเทศ การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย ตั้งจุดตรวจลาดตระเวนชายแดน การจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมือง/ผู้นำพา/ผู้ให้ที่พักพิง การคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาในหมู่บ้าน/ชุมชน การสนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยการจัดเตรียมสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ในสถานที่ราชการและเอกชนที่มีความพร้อม อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนร่วมกับ อสม. และ รพ.สต. สนับสนุนจังหวัด อำเภอในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม/สถานที่กักกันตัวแห่งรัฐในพื้นที่จังหวัด (State Quarantine)/สถานที่กักกันตัวทางเลือก (Alternative Quarantine) ที่พักคอย/สถานที่แยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) กวดขันการลักลอบเล่นการพนัน การเปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ฝ่าฝืนกฎหมายร่วมกับนายอำเภอ ปลัดอำเภอ เป็นต้น
5. มท. แจ้งว่า สำนักงบประมาณได้นำเรื่องดังกล่าวกราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว นายกรัฐมนตรีเห็นชอบให้กรมการปกครองใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลางฯ ภายในกรอบวงเงิน 811.77 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ของโรคโควิด 19 จำนวน 270,590 คน ในอัตรา 500 บาท/คน/เดือน ระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 - มีนาคม 2565) โดยอัตราการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3764