ขอความเห็นชอบการรับรองร่างเอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการประชุมอาเซียน ว่าด้วยแรงงานต่างด้าวและร่างเอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการด้านการตรวจแรงงานอาเซียน และการประชุมวิชาการว่าด้วยการตรวจแรงงานอาเซียน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 March 2022 22:49
- Hits: 2361
ขอความเห็นชอบการรับรองร่างเอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการประชุมอาเซียน ว่าด้วยแรงงานต่างด้าวและร่างเอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการด้านการตรวจแรงงานอาเซียน และการประชุมวิชาการว่าด้วยการตรวจแรงงานอาเซียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างเอกสาร 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการประชุมอาเซียนว่าด้วยแรงงานต่างด้าว (Terms of reference of the ASEAN Forum on Migrant Labour: AFML) (ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการประชุม AFML) และ 2) ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการด้านการตรวจแรงงานอาเซียนและการประชุมวิชาการว่าด้วยการตรวจแรงงานอาเซียน (Terms of reference of the ASEAN Labour Inspection Committee and ASEAN Labour Inspection Conference: ALIC) (ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ALIC และการประชุม) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ รง. ดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย รวมทั้ง อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในหนังสือถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อรับรองร่างเอกสารฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างเอกสารขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการประชุม AFML และขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ALIC และการประชุม ALIC ซึ่งได้รับการรับรองในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน (Senior Labour Officials Meeting: SLOM) ครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 เป็นเอกสารซึ่งจะช่วยสนับสนุนความพยายามและความร่วมมือระดับภูมิภาคในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานให้ดียิ่งขึ้น โดย รง. จะต้องแจ้งยืนยันการรับรองร่างเอกสารฯ ทั้ง 2 ฉบับต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนก่อนการประชุม AFML และการประชุม ALIC โดยร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของการประชุม AFML มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันข้อมูล แนวปฏิบัติที่ดี นวัตกรรม ข้อท้าทาย และผลลัพธ์ในการนำนโยบาย กฎหมาย และโครงการไปปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ข้อท้าทาย และแนวปฏิบัติที่ดีในการนำข้อเสนอของ AFML ไปปฏิบัติ ตลอดจนเพื่อแนะนำเชิงกลยุทธ์และแนวทางการปฏิบัติที่ได้จากการเจรจาหารือรายสาขาของการประชุม AFML ในฐานะเป็นข้อมูลให้กับรัฐบาล องค์กรนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาสังคม
2. ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ALIC และการประชุม ALIC มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1) คณะกรรมการ ALIC
- เพื่ออำนวยความสะดวกในการแบ่งปันข้อมูล แนวปฏิบัติที่ดี และนวัตกรรมในการส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงานและการคุ้มครองแรงงานในประเทศสมาชิกอาเซียน
- เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคและการทำงานประสานระหว่างสาขา เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการตรวจแรงงานในภาคส่วนหรือระบบที่ยากต่อการเข้าถึง
- เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของการประชุม ALIC และริเริ่มการนำไปปฏิบัติในระดับภูมิภาค
- เพื่อให้ข้อมูลเชิงเทคนิคและคำแนะนำแก่ ACE ATUC และองค์กรเฉพาะรายสาขาอื่นๆ
- เพื่อเพิ่มศักยภาพและความเป็นมืออาชีพให้กับผู้ตรวจแรงงานในอาเซียน
- เพื่อบริหารจัดการกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงานข้ามพรมแดน
2) การประชุม ALIC
- เพื่อแบ่งปันข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ที่เป็นปัจจุบันของนโยบาย กลยุทธ์ กฎหมาย แนวปฏิบัติที่ดี และนวัตกรรม ตลอดจนข้อท้าทายและแนวทางต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบรรลุข้อควรปฏิบัติในที่ทำงานผ่านการตรวจแรงงาน ทั้งในด้านของสภาพการทำงานทั่วไปและด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
- เพื่อสร้างและคงไว้ซึ่งเครือข่ายผู้ตรวจแรงงานในอาเซียน เพื่อยกระดับศักยภาพและความเป็นมืออาชีพด้านการตรวจแรงงานภายในประเทศสมาชิกอาเซียน
- เพื่อส่งเสริมความเป็นมืออาชีพของประเทศสมาชิกอาเซียนในทุกมิติของการตรวจแรงงาน
- เพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามกฎหมายและข้อบังคับด้านแรงงาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3756