ผลการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย ครั้งที่ 2
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 March 2022 22:29
- Hits: 2647
ผลการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย ครั้งที่ 2
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอผลการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission :EEC) ครั้งที่ 2 และมอบหมายหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทยกับ EEC ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 โดยมีรองนายกรัฐมมตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานร่วม ซึ่งเป็นการหารือผ่านกลไกกรอบคณะทำงานร่วมระหว่างกันในระดับรัฐมนตรีภายใต้กรอบบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ EEC สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและแนวโน้มการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับผลกระทบภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยเห็นพ้องการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในการแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
2. การแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ด้านการค้าและความร่วมมือด้านการลงทุน ได้แก่ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบาย กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน และการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจโดยสนับสนุนกิจกรรมด้านการค้าและส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน
3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่ออำนวยความสะดวกและขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี ได้แก่ การติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1 ดังนี้
1) มาตรการเยียวยาทางการค้า ไทยมีการผลักดันให้ EEC ยอมรับการใช้เอกสารการแจ้งการไต่สวนเป็นภาษาอังกฤษและขอให้สองฝ่ายแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการไต่สวนระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีการแลกเปลี่ยนรายชื่อหน่วยงานรับผิดชอบหลักและข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ประกอบการหารือในระดับผู้เชี่ยวชาญ
2) กฎระเบียบด้านศุลกากร มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบและขั้นตอนทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และสถานะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้านศุลกากรภายในประเทศเพื่อรองรับการเติบโตของการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
3) กฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช EEC แจ้งยืนยันการบังคับใช้มาตรการฯ ที่สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ
4. การหารือความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายการค้า การลงทุน การดำเนินความสัมพันธ์ และการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยหารือแนวทางความร่วมมือด้านวิชาการ การพัฒนาบุคลากร และการแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบาย แนวปฏิบัติ และกฎระเบียบ ดังนี้
1) ความร่วมมือด้านดิจิทัล มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านนโยบายและกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านดิจิทัล
2) ความร่วมมือด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีการหารือถึงแนวทางการผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรอัจฉริยะและโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ในภาคการเกษตร นอกจากนี้ ไทยเสนอให้มีความร่วมมือด้านการพัฒนามนุษย์ผ่านการฝึกอบรม การประชุมเชิงวิชาการด้านเกษตรชีวภาพ การทำการเกษตรแม่นยำสูง และการทำเกษตรแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และประหยัดทรัพยากร รวมทั้งเสนอให้สองฝ่ายจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายและการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราร่วมกัน
5. การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ของสองฝ่าย EEC แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาจัดทำ FTA ก้บประเทศหรือกลุ่มประเทศที่สาม โดยไทยยืนยันเจตจำนงในการเริ่มต้นกระบวนการจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชียและการเสนอให้สองฝ่ายมุ่งเน้นการดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3754