ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 15 March 2022 23:11
- Hits: 9283
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ คค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. …. เป็นการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การป้องกันและขจัดมลพิษเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ทั้งในส่วนขององค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน เพื่อให้สอดคล้องและทันเหตุการณ์และสถานการณ์ปัจจุบัน ขยายหลักการการป้องกันและขจัดมลพิษให้ครอบคลุมทั้งน้ำมันและเคมีภัณฑ์ เพื่อให้ครบถ้วนและสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973/1978 (International Convention for the Prevention of Pollution from Ships, MARPOL 73/78) เพื่อรองรับการตรวจประเมินจากองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) และเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีพิธีสารว่าด้วยการเตรียมการ ปฏิบัติการ และความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำเนื่องจากสารอันตรายและสารพิษ เห็นควรดำเนินการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วต่อไป
สาระสำคัญของร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
เป็นการยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 และปรับปรุงใหม่เป็น “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ พ.ศ. ….” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมลพิษทางน้ำ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
เรื่อง |
สาระสำคัญ |
|
1. บทนิยาม |
- เพิ่มเติมบทนิยามให้ครอบคลุมถึงการจัดการมลพิษทางน้ำที่เกิดจากเคมีภัณฑ์ด้วย ดังนี้ - “มลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์” หมายความว่ามลพิษที่เกิดจากการเททิ้งหรือการรั่วไหลของน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ หรือการทิ้งสิ่งปนเปื้อนน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ลงสู่ทะเลหรือลำน้ำอื่น - “การจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์” หมายความว่า การดำเนินการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันหรือเคมีภัณฑ์ - “เคมีภัณฑ์” หมายความรวมถึง สารอันตรายหรือสารพิษที่รั่วไหลลงสู่ทะเลหรือลำน้ำอื่น แล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์ ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ หรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเลหรือลำน้ำ ทั้งนี้ รวมถึงสารที่มิใช่สารพิษแต่เมื่อไหลลงสู่ทะเลหรือลำน้ำในปริมาณมากแล้วก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ - แก้ไขบทนิยามคำว่า “น้ำมัน” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดย “น้ำมัน” หมายความว่า น้ำมันดิบตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม แต่ไม่หมายความรวมถึงก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว |
|
2. กลไกการทำงาน |
- ให้มี “คณะกรรมการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์” เรียกโดยย่อว่า “กจน.” ขึ้นใหม่ (เดิม คือ คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำจากน้ำมัน) เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขชื่อร่างระเบียบ โดยปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการชุดเดิมให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้ 1. องค์ประกอบ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (เดิมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานกรรมการ) รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็น รองประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง 26 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวน 6 คน เป็นกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมเจ้าท่าเป็นกรรมการและเลขานุการ และเพิ่มเติมให้ผู้แทนของกองทัพเรือและผู้แทนของ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลหน่วยงานละหนึ่งคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ 2. หน้าที่และอำนาจ - กำหนดนโยบายและจัดทำแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ - ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการ - ควบคุม กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ - กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันและเคมีภัณฑ์และค่าเสียหายที่เกิดจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ - เสนอคณะรัฐมนตรีในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ - ให้กรมเจ้าท่าปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของ กจน. และเป็นศูนย์ประสานงานในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ |
|
3. หน่วยปฏิบัติการและแผนปฏิบัติการ |
- ให้กำหนดรายชื่อหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลักและหน่วยสนับสนุนไว้ในแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานตามระเบียบให้ชัดเจน โดยหากเป็นหน่วยงานหลักตามแผนการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ให้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ ให้สอดคล้องกับแผนจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติด้วย - กำหนดให้ “แผนปฏิบัติการ” แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ 1) แผนป้องกันมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ 2) แผนขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และ 3) แผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วย รายชื่อหน่วยปฏิบัติการเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ ตามแผนปฏิบัติการ หน้าที่และอำนาจของหน่วยปฏิบัติการ วิธีการจัดการมลพิษ ทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ รวมทั้งแนวทางการตรวจสอบและติดตาม การจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ - เมื่อ กจน. พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการแล้ว ให้หน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลักและหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจัดทำคำขอตั้งงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณต่อไป หากมิใช่หน่วยงานของรัฐให้จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์เสนอต่อ กจน. เพื่อทราบ |
|
4. การดำเนินการในกรณีเหตุฉุกเฉินจำเป็น |
- กำหนดให้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ และไม่อาจจัดให้มีการประชุม กจน. ได้ ประธานกรรมการอาจใช้อำนาจแทน กจน. ในการควบคุมและกำกดับดูแลจัดการมลพิษทางน้ำได้ แล้วแจ้งให้ กจน. ทราบโดยเร็ว - กำหนดให้ในการขจัดมลพิษทางน้ำในกรณีฉุกเฉินหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้หน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานหลัก หรือหน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยสนับสนุนดำเนินการตามแผนปฏิบัติการโดยเร็ว - กำหนดให้ในการขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ในกรณีฉุกเฉิน ให้หน่วยปฏิบัติการแต่งตั้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติงานกับ ศูนย์ประสานงานและรายงานผลการปฏิบัติการให้หน่วยงานต้นสังกัดทราบ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญ กำลังคน สถานที่ เครื่องมือ วัสดุ สารเคมี ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการตามที่ ศูนย์ประสานงานร้องขอ โดยให้ศูนย์ประสานงานรายงานความคืบหน้าให้เลขานุการ กจน. ทราบทุกระยะ และให้เลขานุการ กจน. แจ้ง กจน. ทราบโดยเร็ว |
|
5. อื่นๆ |
- กำหนดให้บรรดาเงินที่มีผู้มอบให้เพื่อใช้ในการจัดการมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันและเคมีภัณฑ์ ให้หน่วยปฏิบัติการที่เป็นหน่วยงานของรัฐนำไปใช้เพื่อกิจการ ตามระเบียบนี้ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3560