รายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 15 March 2022 22:47
- Hits: 5165
รายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอรายงานผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (28 ธันวาคม 2564) ที่ให้ คค. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และให้รายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบภายใน 30 วัน] สรุปสาระสำคัญ ได้ ดังนี้
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน1 โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น
1.1 ตรวจสอบการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ รับข้อเสนอแนะไปกำหนดแนวทางการบูรณาการของหน่วยงานในการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งกำกับดูแลการทำงานอย่างต่อเนื่อง
1.2 พิจารณาเสนอแนะแนวทาง นโยบาย มาตรการทางกฎหมาย และวิธีการป้องกัน การทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.3 จัดทำรายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบและรายงานผลการดำเนินงาน ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบทุก 30 วัน
2. การประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 สรุปได้ ดังนี้
2.1 ผลการตรวจสอบการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ประเด็น |
การดำเนินการ/มติที่ประชุม |
|
(1) การบังคับใช้กฎหมายให้สามารถเอาผิดและลงโทษผู้ประกอบการที่บรรทุกน้ำหนักเกินอย่างเป็นรูปธรรม โดยในการจับกุมผู้กระทำความผิดฐานใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ให้เจ้าพนักงานทางหลวงแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการรถบรรทุกในฐานะเป็นผู้ใช้ จ้าง วาน ของผู้ขับขี่รถบรรทุกคันก่อเหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 842 |
- การจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะสิ้นสุดเมื่อลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจในท้องที่นั้นๆ และจะมีการเพิ่มข้อความในบันทึกการจับกุมให้ดำเนินการกับผู้ว่าจ้างด้วย ทั้งนี้ ทล. จะสรุปผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นรายเดือนให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการลงโทษในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการระบุหมายเลขทะเบียนรถจังหวัดที่รถจดทะเบียน และระบุว่ารถมีการดัดแปลงหรือไม่ เพื่อให้ ขบ. ตรวจสอบว่าตัวถังส่วนที่บรรทุกเป็นไปตามแบบที่กำหนดหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดให้ลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป - ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับการระบุข้อความเพิ่มเติมให้ตำรวจดำเนินการกับผู้กระทำความผิดหรือผู้จ้างวาน ซึ่งจะต้องมีหลักฐานเพิ่มเติม ดังนี้ 1) ให้ ทล. หารือและบูรณาการการดำเนินการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เพื่อพิจารณาแนวทาง วิธีการดำเนินการตามกฎหมาย และหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อประกอบสำนวนและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ให้ประสานงานกับ ขบ. ในการลงโทษปรับผู้กระทำผิดด้วย 2) ให้ ทล. และ ทช. จัดส่งผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินให้ ขบ. อย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการกับผู้ประกอบการที่มีการต่อเติม ดัดแปลง และแก้ไขรถบรรทุกอย่างเคร่งครัดต่อไป |
|
(2) การพิจารณาการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MoU) ในการควบคุม กำกับ ดูแลถนนในแต่ละเขตความรับผิดชอบอย่างบูรณาการ เพื่อจัดการกับรถบรรทุกที่กระทำความผิดอย่างเข้มงวด และการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการจับกุมผู้กระทำความผิดให้แก่เจ้าหน้าที่ของ ทช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและควบคุมการใช้ถนนของรถบรรทุก |
- หน่วยงานในสังกัด คค. ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และสหพัฒธ์และสมาคมด้านการขนส่งได้มีการลงนามใน MoU โครงการรถบรรทุกสีขาว ว่าด้วยความร่วมมือในการกำกับควบคุมยานพาหนะไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าพนักงานทางหลวงและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน - ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้ ทล. พิจารณาปรับปรุงคู่มือแนวทางการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและจัดหลักสูตรอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจับกุมให้ อปท. 2) ให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นคัดเลือก อปท. ที่มีปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินและขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลให้ ทช. ดำเนินการต่อไป 3) ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายรวบรวมรายชื่อสมาคม สมาพันธ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งด้วยรถบรรทุก เพื่อให้ ทล. จัดทำ MoU เพิ่มเติมต่อไป |
|
(3) การจัดประชุมหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย |
- ทล. ได้ศึกษาแนวทางแก้ไขกฎหมายในเบื้องต้นแล้ว โดยจะแก้ไขจากโทษอาญาให้เป็นโทษทางแพ่งที่มีอัตราก้าวหน้า รวมทั้งได้ศึกษาการเก็บค่าธรรมเนียมรถบรรทุกพิเศษ เช่น กลุ่มรถขนาดใหญ่ โดยจะแก้ไขพระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนต์บนทางหลวงและสะพาน พ.ศ. 2497 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด - ที่ประชุมมอบหมายให้ ทล. ประสานกับ ตช. เพื่อพิจารณาการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น |
|
(4) การออกมาตรการให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทางโดยเครื่องชั่งที่ได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้การควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ศูนย์กระจายสินค้า ท่าเรือ นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ รถบรรทุกต้องมีป้ายแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่งและมีช่องทางให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิด |
- มาตรการภายในสถานีขนส่งสินค้าของ ขบ. จะมีการบันทึกน้ำหนักโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะรถเคลื่อนที่ (Weight In Motion: WIM) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน ชั่ง ตวง วัด ส่วนมาตรการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) รถบรรทุกที่วิ่งออกจากท่าเรือจะต้องมีการชั่งน้ำหนักทุกครั้งเพื่อควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่เครื่องชั่งดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานเครื่องชั่งน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม กทท. ได้มีประกาศ เรื่อง ขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการควบคุมพิกัดน้ำหนักรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกเขตรั้วศุลกากรท่าเรือกรุงเทพให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บริการรายใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม กทท. จะงดให้บริการ นอกจากนี้ ทล. และ ขบ. ได้เปิดบริการสายด่วนเพื่อรับแจ้งเบาะแสเมื่อพบผู้กระทำความผิดด้วยแล้ว - การกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่มีมาตรการบังคับให้โรงงานต้องมีเครื่องชั่งน้ำหนักและการใช้เทคโนโลยี On Board Weighing System เพื่อแสดงน้ำหนักที่บรรทุกจริงขณะวิ่ง ซึ่งจะต้องมีการลงทุนจำนวนมาก จึงเป็นการยากที่จะบังคับให้ผู้ประกอบการติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ทล. (รับผิดชอบด่านชั่งน้ำหนัก) ขบ. [รับผิดชอบข้อมูลระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System: GPS) ติดตามรถ] และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) (รับผิดชอบข้อมูลใบชั่งระบุน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ต้นทาง) ซึ่งมีระบบการทำงานร่วมกันในรูปแบบ Online จะช่วยประหยัดทรัพยากรและลดระยะเวลาในการสุ่มตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน - ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้ อก. พิจารณาแนวทาง/มาตรการให้มีการชั่งน้ำหนักตั้งแต่ต้นทางเพื่อควบคุมน้ำหนักที่ต้นทางให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2) ให้ ทล. หารือร่วมกับ ขบ. ในการเชื่อมโยงข้อมูลระบบ GPS 3) ให้ กทท. ประสานงานกับสำนักงานกลางชั่งตวงวัดในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเครื่องชั่งน้ำหนัก |
|
(5) การผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เครื่องชั่งน้ำหนักขณะเคลื่อนที่ความเร็วสูง (High-Speed Weigh-In-Motion: HSWIM) และเทคโนโลยีการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกชนิดติดตั้ง ใต้สะพาน (Bridge Weigh-In-Motion: BWIM) มาใช้ในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินเพื่อลดปฏิสัมพันธ์และการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะส่งผลให้การบังคับใช้หรือปฏิบัติตามกฎหมายเป็นไปอย่างเท่าเทียม เสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ |
- ทล. และ ทช. ได้นำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ HSWIM และ BWIM มาใช้ในการตรวจชั่งน้ำหนักรถบรรทุกแล้ว แต่ยังขาดการรับรองเครื่องชั่งน้ำหนักจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัดเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในกระบวนการดำเนินคดีตามกฎหมายได้ - ควรมีการพิจารณา 2 ประเด็น คือ 1) การพัฒนาและผลักดันการนำระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้งาน โดยต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด และ 2) แนวทางการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ - ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้ ทล. หารือร่วมกับสำนักงานกลางชั่งตวงวัดเพื่อกำหนดแนวทาง/มาตรฐานรับรองการใช้เครื่องชั่งน้ำหนัก WIM ทุกรูปแบบ 2) ให้ ทล. หารือร่วมกับ ตช. เกี่ยวกับการใช้ WIM ทุกรูปแบบและรูปถ่ายจากกล้องวงจรปิด CCTV ว่าสามารถใช้เป็นเอกสารหลักฐานประกอบสำนวนเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายได้หรือไม่ รวมถึงหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมาย 3) ให้ ทล. ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ WIM ทุกรูปแบบในตำแหน่งที่มีความเหมาะสม |
|
(6) การเพิ่มมาตรการการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่มีปัญหาการทุจริต และการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น |
- ทล. ทช. และ ขบ. ได้กำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดและกำหนดมาตรการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือทุจริตโดยดำเนินการลงโทษทางวินัยขั้นเด็ดขาด และ ตช. มีมาตรการในการกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ โดยมีศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับพฤติกรรมข้าราชการตำรวจ - ที่ประชุมเห็นควรเพิ่มมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม โดยได้มอบหมายให้ ทล. ทช. ขบ. และ ตช. จัดส่งข้อมูลมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อให้ฝ่ายเลขานุการสรุปในภาพรวมต่อไป |
2.2 แนวทาง นโยบาย มาตรการทางกฎหมาย และวิธีการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
2.2.1 ทล. ทช. และ ขบ. ได้จัดทำแนวทาง มาตรการ และวิธีการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น ระยะยาว มาตรการเชิงรุก และมาตรการทางกฎหมายเบื้องต้น โดยจะมีการนำข้อมูลผลการตรวจสอบการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาจัดกลุ่มและกำหนดเป็นแนวทาง/มาตรการเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อไป
2.2.2 ที่ประชุมมอบหมาย ดังนี้
(1) ให้หน่วยงานพิจารณามาตรการเพิ่มเติมและจัดส่งข้อมูลให้ฝ่ายเลขานุการเพื่อจัดกลุ่มและกำหนดแนวทาง/มาตรการเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป
(2) ให้ฝ่ายเลขานุการรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ
3. คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกินอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งพิจารณากำหนดแนวทาง/มาตรการเพิ่มเติมเพื่อจัดกลุ่มและประมวลข้อมูล กำหนดกิจกรรม และจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action plan) ให้มีความชัดเจน โดยจะรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปกำหนดแนวทางการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
_________________________
1 คำสั่ง คค. ที่ 18/2565 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ลงวันที่ 14 มกราคม 2565
2 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 บัญญัติให้ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องได้รับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3554