ผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ครั้งที่ 1/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 15 March 2022 22:06
- Hits: 3769
ผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ครั้งที่ 1/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม (กบสท.) เสนอ ผลการประชุม กบสท. ครั้งที่ 1/2564 และมอบหมายให้ สศช. ประสานกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละแนวทาง เพื่อจัดกลุ่มแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลภายในปี 2565
สาระสำคัญของเรื่อง
การประชุม กบสท. ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รับทราบเรื่องต่างๆ ดังนี้ (1) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม พ.ศ. 2563 และการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 ท่าน (2) สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประเทศไทย ปี 2563 และ (3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคม ประกอบด้วย แผนระดับ 1 ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แผนระดับ 2 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้อง ใน 4 ประเด็น ได้แก่ เศรษฐกิจฐานราก ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม พื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ และพลังทางสังคม รวมทั้งร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)
2. เห็นชอบหลักการของแนวทางการขับเคลื่อนการบูรณาการเพื่อพัฒนาความเสมอภาคและ ความเท่าเทียมทางสังคม ใน 4 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคล ระดับครัวเรือนและชุมชน ระดับชุมชน และระดับเมือง (ศูนย์กลางความเจริญแต่ละภูมิภาค) เพื่อเป็นกรอบการขับเคลื่อน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ระดับ |
ประเด็นการขับเคลื่อน |
|
(1) ระดับบุคคล สร้างระบบและกลไกให้ความช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษเป็นรายบุคคล โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษในครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น* และกลุ่มเด็กอายุ 15-21 ปี ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาและไม่ได้ทำงาน ซึ่งต้องมีการระบุตัวตนของกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ให้อยู่ในระบบเดียวกัน เช่น ฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (TPMAP) ฐานข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทย |
1) มาตรการให้ความช่วยเหลือเฉพาะเป็นรายบุคคล เช่น (1) วางแผน พัฒนา และติดตตามเด็กยากจนพิเศษจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น (2) จัดทำข้อมูลและแผนการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายเป็นรายบุคคล (3) ติดตามช่วยเหลือให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นและพัฒนาทักษะอาชีพและ (4) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2) เชื่อมโยงการเรียนรู้ทุกประเภทและเปิดทางเลือกในการเรียนรู้ โดยเร่งรัดการจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิตในทุกระดับการศึกษาเพื่อให้เกิดการเทียบโอนระหว่างทักษะ ประสบการณ์ กับคุณวุฒิการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 3) มาตรการช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก เช่น ให้ความช่วยเหลือทางสังคมแบบมุ่งเป้าและส่งเสริมการประกอบอีพที่มีรายได้สูงขึ้น |
|
(2) ระดับครัวเรือนและชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยใช้กลไกกองทุนประชารัฐสวัสดิการและเพิ่มบทบาทให้กองทุนร่วมสนับสนุนแผนงานโครงการพัฒนาชุมชนจากภาคเอกชนและภาคประชาสังคม มีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด กลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชน |
1) เพิ่มการเข้าถึงดิจิทัลทั้งระบบ เช่น (1) อุดหนุนการเข้าถึงและเพิ่มศักยภาพการใช้ดิจิทัลทั้งระบบแก่กลุ่มเปราะบางเพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการพื้นฐานด้านสาธารณสุข การศึกษา และการประกอบอาชีพ และ (2) ออกมาตรการจูงใจให้เข้ารับการอบรมพัฒนาทักษะอาชีพ 2) บูรณาการฐานข้อมูลคลัสเตอร์ผู้ประกอบการท้องถิ่นกับหน่วยวิจัยและพัฒนาของสถาบันศึกษาในระดับจังหวัดให้อยู่ในรูปของ Open Data เพื่อเป็นคลังข้อมูลและความรู้กลางให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียมเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น |
|
(3) ระดับชุมชน พัฒนาหลักประกันและความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุม แก้ไขปัญหาคนตกหล่นจากมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐหรือระบบฐานข้อมูลที่สำคัญ |
1) ปรับปรุงฐานข้อมูล TPMAP และข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) โดยใช้กลไกในพื้นที่ของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และกลไกของภาคีพัฒนาอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลรายบุคคลให้ครอบคลุมประชากรจากครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นทุกคนและเป็นปัจจุบัน 2) เพิ่มระดับการออมในระบบประกันสังคมและการออมภาคสมัครใจ โดยปรับปรุงรูปแบบการจ่ายเงินสมทบและสิทธิประโยชน์ให้มีความหลากหลาย ส่งเสริมการออมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวัยเกษียณอายุ และพัฒนาระบบบริการข้อมูลทางการเงินเพื่อการเกษียณ 3) จัดทำระบบให้ความช่วยเหลือในยามวิกฤตจากบทเรียนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยใช้ทุนทางสังคมและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาและเชื่อมโยงหน่วยงานรัฐกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ให้พร้อมช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ |
|
(4) ระดับเมือง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม โดยระยะแรกดำเนินการโดยเน้นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ 6 เมือง (กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น เมืองในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จังหวัดสงขลา และภูเก็ต) ตามที่กำหนดในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติในแผนย่อยของประเด็นพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ |
1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการของเมืองเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ (1) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบดิจิทัล สาธารณสุข และการศึกษาให้สอดคล้งกับอัตลักษณ์และความต้องการของพื้นที่เพื่อพัฒนาภาคให้เป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ (2) พัฒนาระบบข้อมูลสาสนเทศเพื่อการพัฒนาพื้นที่และเมืองร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยวางแผนการพัฒนาให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และภัยพิบัติ และ (3) เสริมสร้างสมรรถนะประชาชนท้องถิ่นในทุกระดับให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการพื้นที่และเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) ส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ในเมืองเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม พัฒนาระบบนิเวศเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆ สร้างและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย มีคุณภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โดยมีมาตรการทางภาษีและมาตรการจูงใจ |
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. ประสานงานกับ มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละแนวทางเพื่อจัดกลุ่มแนวทางที่ต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลภายในปี 2565
_____________________
* ครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนอายุ 0-18 ปี และมีความขัดสนทางรายได้หรือมิใช่รายได้ อย่างน้อยอย่างใดอย่างหนึ่ง จาก 4 มิติ ได้แก่ (1) มิติด้านสุขภาพ (2) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (3) มิติด้านการศึกษา และ (4) มิติด้านความมั่นคงทางการเงิน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3550