การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปี พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 15 March 2022 21:41
- Hits: 3636
การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปี พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติดังนี้
1. เห็นชอบการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) ภายใต้บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปี พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ
2. อนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ รง. เสนอว่า
1. ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร เป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ลงวันที่ 1 มีนาคม 2549 ประกอบกับบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา รัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กำหนดให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถขออนุญาตเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานได้เป็นเวลา 2 ปี และสามารถต่ออายุการอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานอีกครั้งเดียว เป็นระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี (รวมทั้งหมดไม่เกิน 4 ปี)โดยเมื่อครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว คนต่างด้าวต้องเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 30 วัน ก่อนที่จะสามารถขออนุญาตกลับเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ได้อีกครั้งหนึ่ง
2. ปัจจุบันมีคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งวาระการจ้างงานครบ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2565 จำนวนทั้งสิ้น 106,580 คน (กัมพูชา 26,840 คน ลาว 25,504 คน และเมียนมา 54,236 คน) ซึ่งเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการให้อยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานแล้ว คนต่างด้าวดังกล่าวต้องเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามข้อ 1 แต่โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ซึ่งเป็นสายพันธ์ที่สามารถกระจายได้เร็วและมีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น รัฐบาลจึงต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันควบคุม และยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งรวมไปถึงการเดินทางเข้าออกประเทศ ส่งผลให้การดำเนินการของคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ที่วาระการจ้างงานครบ 4 ปี ในปี พ.ศ. 2565 ประสบกับอุปสรรค ข้อขัดข้อง รวมถึงการไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้โดยสะดวก ประกอบกับนายจ้างและผู้ประกอบการยังคงมีความต้องการกำลังแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการฟื้นฟูประเทศทั้งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคคลี่คลาย ดังนั้น เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งประสงค์จะทำงานสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อทำงานต่อไปได้ อันจะส่งผลให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศสามารถขับเคลื่อนได้ต่อไปภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รง. จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2565 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้ โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ โดยให้มีการยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ …. เพื่อให้คนต่างด้าวดังกล่าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้เป็นกรณีพิเศษอีก 6 เดือนเพื่อดำเนินการขออนุญาตทำงานหรือขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ของตนให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว
3. รง. โดยกรมการจัดหางาน ได้มีหนังสือถึงทางการกัมพูชา ลาว และเมียนมาเกี่ยวกับการระงับเป็นการชั่วคราวต่อการบังคับใช้พันธกรณีที่กำหนดให้แรงงานจะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง และการบริหารจัดการเฉพาะกิจสำหรับการต่ออายุใบอนุญาตทำงานและการขยายเวลาให้อยู่ในราชอาณาจักรสำหรับแรงงานต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ตามข้อ 2 ซึ่งทางการของประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาได้มีหนังสือแจ้งให้ทราบแล้วว่าเห็นชอบกับการดำเนินการดังกล่าวด้วยแล้ว
4. ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบการดำเนินการเพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ในปี พ.ศ. 2565 สามารถอยู่และทำงานได้ต่อไป โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ
สาระสำคัญของร่างประกาศ
1. กำหนดให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ซึ่งเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อทำงานสิ้นสุดลงในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2565 สามารถอยู่ในราชอาณาจักรต่อไปได้เป็นกรณีพิเศษอีก 6 เดือน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง เพื่อดำเนินการขออนุญาตทำงานหรือขอต่อใบอนุญาตทำงาน และขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป
2. ให้คนต่างด้าวตามข้อ 1 ไปตรวจขออนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป ที่กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อทำงานไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3546