การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน [Financial Action Task Force (FATF)]
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 15 March 2022 21:38
- Hits: 3639
การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน [Financial Action Task Force (FATF)]
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force: FATF) และให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ซึ่งกำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีในส่วนของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการสมัครเข้าเป็นสมาชกของ FATF ตามร่างหนังสือแสดงเจตจำนงตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
FATF เป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาล จัดตั้งขึ้นในปี 2532 โดยที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G71 ปัจจุบันมีสมาชิก 39 ราย และมีเครือข่ายความร่วมมือซึ่งเรียกว่า FATF-Style Regional Bodies (FSRBs) 9 แห่ง ในทุกภูมิภาคของโลก เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating Financing of Terrorism: AML/CFT) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิกของ FATF แต่เป็นสมาชิกของกลุ่ม APG (หนึ่งใน FSRBs) ซึ่งเป็นเครือข่ายและสมาชิกสมทบของ FATF (ตามมติคณะรัฐมนตรี 10 เมษายน 2544 และ 5 พฤษภาคม 2563) โดย FATF ได้กำหนดวัตถุประสงค์ คุณสมบัติของสมาชิก กระบวนการและการจัดทำกรอบระยะเวลาในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกภาพ และการชำระค่าธรรมเนียม สรุปได้ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ (1) เป็นองค์กรหลักในการกำหนดมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT (2) ผลักดันการปฏิบัติตามมาตรการด้าน AML/CFT เพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง และเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศ (3) ประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ในเรื่องความสอดคล้องด้านกรอบกฎหมาย ประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน การติดตามความคืบหน้าในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และการออกมาตรการตอบโต้ประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล และ (4) จัดทำแนวโน้มและวิธีการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
2. คุณสมบัติของสมาชิก ประเทศผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก FATF ต้องมีคุณสมบัติใน ผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ดังนี้
(1) ความสอดคล้องด้านกรอบกฎหมาย
1.1) ต้องมีคะแนนผลการประเมินที่ได้คะแนนในระดับสอดคล้อง น้อยที่สุด (Non-Compliant: NC) และสอดคล้องบางส่วน (Partially Compliant: PC) ไม่เกิน 7 ข้อ
1.2) ข้อแนะนำที่ 3 (ความผิดฐานฟอกเงิน) ข้อแนะนำที่ 5 (ความผิดฐานการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย) ข้อแนะนำที่ 10 (การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า) ข้อแนะนำที่ 11 (การเก็บรักษาหลักฐาน) และข้อแนะนำที่ 20 (การรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย) ต้องอยู่ในระดับสอดคล้องมาก (Largely Compliant: LC หรือสอดคล้องมากที่สุด/ไม่มีข้อบกพร่อง (Compliant: C)
(2) ความสอดคล้องด้านประสิทธิภาพ
2.1) ต้องมีคะแนนความสอดคล้องด้านประสิทธิผลในระดับปานกลางและต่ำรวมกันไม่เกิน 6 ด้าน
2.2) ต้องมีคะแนนความสอดคล้องด้านประสิทธิผลในระดับต่ำ ไม่เกิน 3 ด้าน
3. การชำระค่าธรรมเนียม การเข้าเป็นสมาชิก FATF จะต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จะใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่ม FATF ซึ่งขึ้นกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ โดยประมาณการค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปีของประเทศไทยจากการคำนวณจากสถิติเชิงปริมาณจะอยู่ระหว่าง 2.65-2.95 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปีถัดไปค่าธรรมเนียมสมาชิกรายปีจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5-6 ขึ้นอยู่กับขนาดของ GDP และกิจกรรม/โครงการของ FATF ในแต่ละปี
ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิกของ FATF จะเพิ่มบทบาทการทำงานด้าน AML/CFT ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะที่เป็นประเทศที่มีการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลในระดับเดียวกับนานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้ว เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเงินของประเทศไทย สร้างความน่าเชื่อถือด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี และนำมาซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต รวมทั้งประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้ด้านวิชาการจากประเทศต่างๆ
____________________________
1กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 7 ประเทศ คือ ประเทศแคนาดา สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐอิตาลี ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3545