การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In - person)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 15 March 2022 21:27
- Hits: 2988
การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In - person)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทย สำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In - person)
2. เห็นชอบต่อกรอบการเจรจา และท่าทีของประทศไทย สำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา มินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In - person)
3. หากมีข้อเจรจาใดที่นอกเหนือจากกรอบการเจรจาฯ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Legally binding) ต่อประเทศไทย ให้เป็นดุลยพินิจของหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้พิจารณา โดยไม่ต้องนำกลับเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาใหม่จนสิ้นสุดการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In - person) ในวันที่ 25 มีนาคม 2565
4. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาบาหลีว่าด้วยการต่อต้านการค้าปรอทอย่างผิดกฎหมายทั่วโลกและการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อการประสานงาน ป้องกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าปรอทผิดกฎหมายของประเทศไทย ภายใต้คณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานตามปฏิญญาดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขร่างเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการได้ และมอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยให้การรับรอง (Endorsement) ต่อร่างปฏิญญาบาหลีฯ ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In - person)
สาระสำคัญ
1. องค์ประกอบคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In - person) ระหว่างวันที่ 21 - 25 มีนาคม 2565 ณ เกาะบาหลีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย คือ นางสาวธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียและสารอันตราย ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย และผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ 1 คน ส่วนการรับฟังถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ ประกอบด้วย ประธานอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ และผู้แทน 9 กระทรวงที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมองค์ประกอบของคณะผู้แทนไทยทั้งสิ้น 49 คน
2. กรอบการเจรจาสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง (In - Person) ประกอบด้วย
1) สนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักการและจุดมุ่งหมายของอนุสัญญามินามาตะฯ ในการปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสู่บรรยากาศ และการปล่อยสู่ดินหรือน้ำของปรอทและสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์
2) คำนึงถึงสภาพการณ์ต่างๆ และความต้องการจำเพาะของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในระดับประเทศด้านการจัดการสารเคมีอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวงจร โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคและทางด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีต่างๆ
3) คำนึงถึงขีดความสามารถและสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในการดำเนินตามอนุสัญญามินามาตะฯ และสะท้อนหลักการความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างกัน
4) สนับสนุนความร่วมมือและการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินงานตามพันธกรณีข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทยเป็นภาคี ข้อตกลงที่สอดคล้องกับศักยภาพ และขีดความสามารถของประเทศจากการใช้ปรอทและสารประกอบปรอท
5) สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ที่ขยายการบังคับใช้ถึง พ.ศ. 2565 นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2580 และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการสารเคมี พ.ศ. 2562 - 2565
3. ร่างปฏิญญาบาหลีว่าด้วยการต่อต้านการค้าปรอทอย่างผิดกฎหมายทั่วโลก
วัตถุประสงค์เพื่อเข้าถึงกระแสหลักของปัญหาการค้าปรอทอย่างผิดกฎหมายเติมเต็มอนุสัญญามินามาตะฯ และต่อต้านกาค้าปรอทอย่างผิดกฎหมาย โดยมีกำหนดปรับปรุงร่างปฏิญญาบาหลีฯ จำนวน 3 ครั้ง ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ได้พิจารณาร่างปฏิญญาบาหลีฯ ครั้งที่ 1 โดยเห็นชอบในการขอปรับปรุงร่างปฏิญญาฯ ดังกล่าวในภาพรวมประเทศไทย ทั้งในส่วนอารับภบทและปฏิบัติการ อาทิ เพิ่มประเด็นด้านสุขภาพ และระบบแจ้งเตือนและแบ่งปันข้อมูล เป็นต้น ในการนี้ กรมควบคุมมลพิษได้จัดส่งความเห็นในการขอปรับปรุงดังกล่าวให้สาธารณรัฐอินโดนีเซียรับทราบ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 รวมทั้งเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อการประสานงาน ป้องกัน และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการค้าปรอทผิดกฎหมายของประเทศไทย ภายใต้คณะอนุกรรมการอนุสัญญามินามาตะฯ เพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานตามปฏิญญาบาหลีฯ ซึ่งปัจจุบันร่างปฏิญญาบาหลีฯ ผ่านการปรับปรุง ครั้งที่ 2 แล้ว และจะมีกำหนดปรับปรุงร่างปฏิญญาบาหลีฯ ครั้งสุดท้าย คือ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ - 16 มีนาคม 2565 โดยจะเผยแพร่ผลการปรับปรุงนี้ ในวันที่ 21 มีนาคม 2565 และจะตอบข้อซักถามต่อภาคีสมาชิก ในวันที่ 25 มีนาคม 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3541