ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)]
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 March 2022 22:52
- Hits: 3955
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... [มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup)]
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาตามข้อ 1 ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการปรับปรุงมาตรการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการระดมทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 597) พ.ศ. 2559 และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรจากการโอนหุ้นและหน่วยทรัสต์ของการลงทุนในวิสาหกิจ เริ่มต้นโดยตรงและการลงทุนในวิสาหกิจเริ่มต้นผ่านกิจการเงินร่วมลงทุน โดยให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2575 ทั้งนี้ เพื่อให้ Startup ไทยสามารถระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น
กระทรวงการคลังได้รายงานการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยจะทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้จำนวนหนึ่ง แต่ไม่อาจประมาณการได้ เนื่องจากการโอนหุ้นหรือหน่วยทรัสต์ของผู้ลงทุนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ลงทุนแต่ละรายและมาตรการภาษีตามร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้จะทำให้ภายในปี 2569 ประเทศไทยมีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 3.2 แสนล้านบาท GDP เพิ่มขึ้น 7.9 แสนล้านบาท จำนวน Startup เพิ่มขึ้น 5,000 – 10,000 แห่ง และการจ้างงานเพิ่มขึ้น 200,000 – 400,000 ตำแหน่ง
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยแบ่งตามรูปแบบการลงทุน ดังนี้
รูปแบบการลงทุน |
ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี |
|
1. การลงทุนโดยตรง ของบุคคลธรรมดาหรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย และบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในต่างประเทศ (เดิมไม่มี) |
• บุคคลธรรมดาหรือบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยและบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการโอนหุ้นของ Startup ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (กำไร) โดย Startup ต้องประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐสนับสนุน |
|
2. การลงทุนผ่าน VC |
• Corporate Venture Capital (CVC) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการโอนหุ้นของ Startup ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน โดย Startup ต้องประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐสนับสนุน • Private Equity Trust (PE Trust) ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ นิติบุคคล • ผู้ลงทุนใน CVC ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการโอนหุ้นของ CVC ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน • ผู้ลงทุนใน PE Trust ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการโอนหน่วยทรัสต์ของ PE Trust ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหน่วยทรัสต์ที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3334