การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ในปี 2565 – 2567 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 March 2022 22:21
- Hits: 4089
การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ในปี 2565 – 2567 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ในปี 2565 – 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท โดยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พน. รายงานว่า
1. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในคราวประชุมครั้งที่ 27/2564 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 และครั้งที่ 29/2564 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 มีมติเห็นชอบค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) ขายปลีก1 สำหรับเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า งวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 เท่ากับ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ตามแนวทางการพิจารณาเกลี่ยค่า Ft ให้คงที่ตลอดปี 2564 เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ใช้ไฟฟ้าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
2. กกพ. ในคราวประชุมครั้งที่ 44/2564 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศมีความจำเป็นต้องจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) เพิ่มเติม ในช่วงเดือนกันยายน - ธันวาคม 2564 แบบ Spot LNG2 เพื่อให้มีปริมาณก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ดี ในขณะนั้นราคาก๊าซธรรมชาติได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ราคา Spot LNG (ราคาประมาณ 800 - 1,200 บาทต่อล้านบีทียู) สูงกว่าราคา Pool Gas3 (ราคาประมาณ 200 – 300 บาทต่อล้านบีทียู) จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า4 เพิ่มสูงกว่าค่า Ft ที่ กกพ. ประกาศเรียกเก็บ (ตามข้อ 1) และทำให้ กฟผ. ต้องรับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน กกพ. จึงมีคำสั่งมอบหมายให้ กฟผ. และ ปตท. ดำเนินการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ขาดแคลนเชื้อเพลิงในประเทศ ดังนี้
คำสั่ง กกพ. |
การดำเนินการของ กฟผ./ปตท. |
|
• ให้มีการจัดหา Spot LNG จำนวน 7 ลำเรือ (ปริมาณ LNG 4.8 แสนตัน) ภายในปี 2564 โดยให้ ปตท. จัดหา Spot LNG ดังนี้ (1) ภายในเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 2 ลำเรือ (2) ภายในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564จำนวน 5 ลำเรือ โดยให้ ปตท. หารือกับ กฟผ. หากต้องการจัดหา Spot LNG เพื่อใช้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าบางปะกงเพิ่มเติม ให้จัดหาได้ 2 ลำเรือ แต่หาก กฟผ. ไม่ต้องการนำเข้า ให้ ปตท. สามารถจัดหา Spot LNG ได้ทั้ง 5 ลำเรือ • ให้ ปตท. รายงานแผนการจัดหา Spot LNG ต่อ กกพ. รวมทั้งรายงานผลการนำเข้า Spot LNG แต่ละลำให้ กกพ. ทราบด้วย |
กฟผ. ได้ดำเนินการจัดหา Spot LNG ตามคำสั่งของ กกพ. จำนวนทั้งสิ้น 6 ลำเรือ (รวมที่จัดหาสำหรับโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้ว) คิดเป็นปริมาณLNG 4.05 แสนตัน โดยบางส่วนเป็นการนำเข้าแทน ปตท. ที่ไม่สามารถนำเข้าได้เนื่องจากหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด5 |
|
ให้ ปตท. บริหารจัดการระดับ LNG Inventory ของประเทศให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1 ถัง (ปริมาตร 1.6 แสนลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นประมาณ 72,727 ตัน โดยให้รายงานสำนักงาน กกพ. ทราบทุก 15 วัน และเร่งดำเนินการเตรียมแผนการจัดหา LNG สำหรับปี 2565 - 2567 เสนอ กกพ. |
ปตท. ได้เสนอทบทวนแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติในปี 2565 - 2567 ต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแล้ว ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยสรุปปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติปี 2565 - 2567 อยู่ที่ประมาณ 3,810 3,942 และ 4,067 พันล้านบีทียูต่อวันตามลำดับ และความสามารถในการนำเข้า LNG สำหรับปีดังกล่าว ที่ 4.5 5.2 และ 5.0 ล้านตันต่อปีตามลำดับ โดย กบง. ได้มีมติเห็นชอบความสามารถในการนำเข้า LNG ดังกล่าว และมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้บริหารจัดการปริมาณการนำเข้า LNG ปี 2565 – 2567 และกำกับดูแลต่อไป |
|
ให้ ปตท. และ กฟผ. พิจารณกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการนำราคา LNG ที่นำเข้าเพื่อเป็นเชื้อพลิงในการผลิตไฟฟ้าไปคำนวณเป็นราคารวมในราคา Pool Gas เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม |
อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อนำต้นทุนการนำเข้า Spot LNG ของ กฟผ. ในเดือนกันยายน - ธันวาคม 2564 ไปคำนวณรวมกับราคา Pool Gas ของ ปตท. โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้ (1) กรณีที่สามารถนำ Spot LNG ของ กฟผ. ไปคำนวณต้นทุนรวมกับ Pool Gas จะส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อนประมาณ 29,000 ล้านบาท (2) กรณีไม่สามารถนำ Spot LNG ของ กฟผ. ไปคำนวณต้นทุนรวมกับ Pool Gas จะส่งผลให้ กฟผ. ต้องรับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อนประมาณ 35,000 ล้านบาท (ณ เดือนพฤศจิกายน 2564) โดย กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาตามข้อกฎหมาย ระเบียบ และมติ กพช. ที่เกี่ยวข้อง |
3. ปัจจุบัน กฟผ. ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานสูงมาก โดยมีรายจ่ายที่ต้องชำระเป็นค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อกระแสไฟฟ้า งบลงทุน และอื่นๆ ซึ่งมีกำหนดเวลาการชำระเงินที่แน่นอน และจากการตรึงค่า Ft รวมทั้งสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงข้างต้น ส่งผลให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องในปี 2565 แม้จะมีการกู้เงินระยะสั้นแบบ Credit Line ระยะเวลา 3 ปี กรอบวงเงินปีละ 10,000 ล้านบาท (ตามข้อ 1) แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับการดำเนินการของ กฟผ. ดังนั้น กฟผ. จึงต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน (กู้เงินฯ) ในปี 2565 – 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท6 โดยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan7 อายุไม่เกิน 3 ปี เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่สามารถดำเนินภารกิจรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศและเป็นกลไกของภาครัฐในการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการ กฟผ. ในคราวประชุมครั้งที่ 15/2564 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
4. กฟผ. จะดำเนินการเสนอแผนการกู้เงินฯ ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐนตรีแล้วต่อคณะกรรมการหนี้สาธารณะฯ เพื่อพิจารณาและจัดทำแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (ปรับปรุงครั้งที่ 2) ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 ต่อไป
_____________________
1Ft ย่อมาจากคำว่า Fuel Adjustment Charge (at the given time) หมายถึง ค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า
2Spot LNG คือ การซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือ โดยราคาซื้อขายจะอ้างอิงกับราคา LNG ในตลาดโลกตามช่วงเวลานั้นๆ
3Pool Gas หมายถึง ราคาเฉลี่ยของเนื้อก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายเดิม [บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)] ที่จำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ใช้ก๊าซอื่นๆ เพื่อส่งเข้าระบบส่งก๊าชธรรมชาติบนบก ซึ่งประกอบด้วย (1) ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (2) ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา และ (3) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตามสัญญาซื้อขายระยะยาวระหว่าง ปตท. และคู่สัญญา
4ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ Spot LNG ของ กฟผ. จะถูกส่งผ่านไปเฉลี่ยในโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าของประเทศ
5กพช. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 (ครั้งที่ 153) เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ซึ่งกำหนดให้ ปตท. สามารถนำเข้า Spot LNG ได้ ก็ต่อเมื่อราคาต่ำกว่า Pool Gas เท่านั้น
6กฟผ. ชี้แจงว่า วงเงินกู้ดังกล่าวไม่ครอบคลุมจำนวนเงินที่ กฟผ. รับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด เนื่องจาก กฟผ. ยังมีกระแสเงินสดคงเหลือจำนวนหนึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องกู้เงินฯ เต็มจำนวนที่ กฟผ. รับภาระแทนผู้ใช้ไฟฟ้า
7Term Loan คือ เงินกู้ที่มีระยะเวลาการชำระคืนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป สามารถชำระคืนเงินต้นเป็นรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี โดยจำนวนเงินที่ผ่อนชำระมักเท่ากันทุกงวด และมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเงินกู้แบบ Credit Line
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3327