โครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 March 2022 22:09
- Hits: 2843
โครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการดำเนินโครงการอาชีวะ ฝีมือชน พัฒนากำลังคนชายแดนใต้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2568 สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว เห็นสมควรให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรแล้วแต่กรณี ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อมาดำเนินการเป็นลำดับแรก ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - พ.ศ. 2568 เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสม สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยคำนึงถึงความซ้ำซ้อน ความครอบคลุมของทุกแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จ่าย ศักยภาพของสถานศึกษาในการรองรับการจัดการเรียนการสอน ความเป็นธรรมและเท่าเทียมในการจัดสรรทุน และเห็นควรจัดให้มีระบบการติดตามผลการดำเนินงานและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการในทุกๆ ปีการศึกษา เพื่อนำผลการประเมินโครงการมาใช้เป็นแนวทางในการขอรับการจัดสรรงบประมาณต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
ศธ. รายงานว่า
1. ในปีการศึกษา 2561 สอศ. ได้จัดทำโครงการอาชีวะฯ ในลักษณะการจัดตั้งโรงเรียนประจำที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์การเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือนักเรียนยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้น โดยนักเรียน/นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1.1 ครอบครัวมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (ใช้ข้อมูลจากผู้ที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการของรัฐ)
1.2 เป็นนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัด
ชายแดนภาคใต้
1.3 มีภูมิลำเนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย)
2. สอศ. ได้ดำเนินโครงการอาชีวะฯ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2563 ในสถานศึกษาสังกัด สอศ. 4 แห่ง ได้แก่ (1) วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี (2) วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา (3) วิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก และ (4) วิทยาลัยเทคนิคจะนะ โดยใช้งบประมาณของส่วนราชการในการดำเนินโครงการอาชีวะฯ จำนวน 68,936,000 บาท ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีนักเรียน/นักศึกษาเข้าร่วมโครงการอาชีวะฯ จำนวน 858 คน ประกอบด้วย ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 318 คน และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 540 คน และได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
3. คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 เห็นชอบในหลักการของโครงการอาชีวศึกษาประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซึ่งต่อมา คปต. ได้มีมติเห็นชอบให้ สอศ. เปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโครงการอาชีวะฯ) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2568 กรอบวงเงินงบประมาณ 107,604,000 บาท เพื่อจัดหาหอพักและสนับสนุนทุนการศึกษาให้นักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ สอศ. สำรวจกลุ่มเป้าหมายและจัดทำรายละเอียดโครงการฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ในครั้งนี้ ศธ. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการอาชีวะฯ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วัตถุประสงค์ |
1. เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือนักเรียนผู้ด้อยโอกาสและครอบครัวผู้มีรายได้น้อย 2. เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนไทยในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เรียนรู้วิชาชีพอย่างมีคุณภาพและตลอดชีวิต 3. เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้มีโอกาสสร้างทักษะในการประกอบอาชีพที่มั่นคง |
เป้าหมาย |
จัดตั้งโรงเรียนในลักษณะโรงเรียนประจำในสถานศึกษาสังกัด สอศ. ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย) สำหรับนักเรียน/นักศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. ที่ยากจน ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
สถานที่ดำเนินการ |
สถานศึกษาสังกัด สอศ. 4 แห่ง ได้แก่ (1) วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี (2) วิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา (3) วิทยาลัยการอาชีพสุไหงโก-ลก และ (4) วิทยาลัยเทคนิคจะนะ |
จำนวนนักเรียน |
ระดับ ปวช. จำนวน 135 คน/ชั้นเรียน และระดับ ปวส. จำนวน 247 คน/ชั้นเรียน |
ระยะเวลาดำเนินการ |
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2568 |
กรอบวงเงินงบประมาณ |
จำนวน 107,604,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ประกอบด้วย (1) งบดำเนินงาน1 5,799,000 บาท และ (2) งบอุดหนุน2 101,805,000 บาท |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
สอศ. และศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
1. มีสถานศึกษาที่ให้บริการนักเรียน/นักศึกษาที่ครอบครัวยากจน ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียน/นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3. สร้างโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพอย่างทั่วถึง |
_____________________
1ค่าใช้จ่ายในการปฐมนิเทศและปัจฉิมนิเทศนักเรียน/นักศึกษา คนละ 1,000 บาท
2ทุนการศึกษาคนละ 30,000 บาท/ปีการศึกษา (ระดับ ปวช.) หรือ 40,000 บาท/ปีการศึกษา (ระดับ ปวส.)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3325