การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 March 2022 22:07
- Hits: 2793
การปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง (กค.) โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยงานราชการส่วนกลางในภูมิภาค ต้องไม่มีหน่วยงานของกรมที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนกลางในภูมิภาค ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. รายงานว่า
1. กรมศุลกากร กค. จำเป็นต้องปรับบทบาท ภารกิจ และจัดโครงสร้างให้รองรับการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ในการปรับปรุงการดำเนินพิธีการศุลกากรและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและสินค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กค. จึงขอปรับหน้าที่และอำนาจ และจัดตั้งส่วนราชการใหม่ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ สำนักงานศุลกากรมาบตาพุด และสำนักงานศุลกากรภาคที่ 5
2. ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณาการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กค. แล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 ความเห็นของ ก.พ.ร.
2.1.1 กรมศุลกากรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของพิธีการศุลกากรโลกที่ปรับเปลี่ยนจากการจัดเก็บภาษีการนำเข้าและส่งออกสินค้าเป็นการมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า รองรับการค้าโลกที่มีการแข่งขันสูงและทิศทางการจัดเก็บภาษีการค้าระหว่างประเทศของโลกที่ลดลงเป็นศูนย์ และรองรับการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ รวมถึงเพื่อพัฒนาการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของด่านศุลกากร ณ หน้าด่าน ให้รวดเร็วและถูกต้อง โดยมุ่งเน้นการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการนำเข้าและส่งออก การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการเกี่ยวกับพิธีการศุลกากรได้อย่างถูกต้องและแก้ไขปัญหาการกระทำผิดหรือผิดพลาด รวมทั้งการนำระบบปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสินค้าในการนำเข้าและส่งออกระหว่างประเทศ
2.1.2 การจัดตั้งส่วนราชการใหม่ 2 ส่วนราชการ ดังนี้
(1) จัดตั้งสำนักงานศุลกากรมาบตาพุดโดยปรับเปลี่ยนมาจากด่านศุลกากรมาบตาพุด ซึ่งเป็นการเพิ่มขอบเขตอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ เพื่อการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้ได้รับความสะดวกและรวดเร็ว
(2) จัดตั้งสำนักงานศุลกากรภาคที่ 51 เพื่อรองรับการปรับบทบาทที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออก และการขยายตัวของระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 (เรื่อง การทบทวนข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามแผนการปฏิรูปประเทศ) ที่กำหนดให้การจัดตั้งหน่วยงานเพิ่มใหม่ต้องมีข้อเสนอให้ยุบเลิกหรือยุบรวมหน่วยที่มีอยู่เดิม (One-In, X-Out) ดังนั้น กรมศุลกากรจึงได้เสนอควบรวมด่านศุลกากรบูเก๊ะตาไว้กับด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก โดยรวมภารกิจและอัตรากำลังของด่านศุลกากรบูเก๊ะตาไปไว้ที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก และให้ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก รับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพยากรทั้งงบประมาณและอัตรากำลังให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ กรมศุลกากรยืนยันว่า ณ ที่ทำการหน้าด่านศุลกากรบูเก๊ะตายังคงมีการดำเนินการเช่นเดิม เช่น การให้บริการทางพิธีการศุลกากรในการนำเข้าและส่งออกสินค้า และการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดนและการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งไม่กระทบต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการและภาคเอกชน2
2.1.3 การปรับโครงสร้างของกรมศุลกากรโดยจัดตั้งสำนักงานศุลกากรมาบตาพุดและสำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 เป็นราชการส่วนกลางในภูมิภาคเพิ่มใหม่ ไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 เนื่องจากกรมศุลกากรมีหน่วยงานราชการส่วนกลางในภูมิภาคอยู่แล้ว ได้แก่ สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 – 4 จึงต้องขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ที่กำหนดว่า “ต้องไม่มีหน่วยงานของกรมที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนกลางในภูมิภาค”
2.1.4 การปรับหน้าที่และอำนาจของสำนักงานศุลกากร 6 แห่งได้แก่ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบังสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง โดยเพิ่มหน้าที่และอำนาจ “ตรวจสอบบันทึก บัญชีและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำของเข้า หรือส่งของออก ณ ที่ทำการของผู้นำของเข้าผู้ส่งของออก หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปราบปรามการฉ้อฉลทางการค้าภายในขอบเขตหน้าที่และอำนาจ” เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 157 และมาตรา 159 เรื่องการเข้าไปในสถานประกอบการเพื่อตรวจสอบเอกสาร หลักฐาน และข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับของที่กำลังผ่านหรือได้ผ่านพิธีการศุลกากร
2.2 มติ ก.พ.ร.
2.2.1 เห็นชอบการแบ่งส่วนราชการของกรมศุลกากรโดยจัดตั้งสำนักงานศุลกากรมาบตาพุด (ซึ่งปรับเปลี่ยนมาจากด่านศุลกากรมาบตาพุด) และสำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 (โดยควบรวมด่านศุลกากรบูเก๊ะตากับด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก) เป็นราชการส่วนภูมิภาค และการปรับปรุงหน้าที่และอำนาจสำนักงานศุลกากร จำนวน 6 แห่ง
2.2.2 เห็นควรขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 (เรื่อง การปรับปรุงแนวทางการจัดส่วนราชการในภูมิภาค) กรณีการจัดตั้งหน่วยงานส่วนกลางในภูมิภาคเพิ่มใหม่
2.2.3 เห็นชอบกับการกำหนดตัวชี้วัดสำคัญ3 เพื่อวัดความสำเร็จจากการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการใหม่ และให้กรมศุลกากรรายงานผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดสำคัญดังกล่าวให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบ เมื่อครบกำหนด 1 ปี นับแต่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากรมีผลบังคับใช้
____________________
1สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า สำนักงานศุลกากรภาคที่ 5 ตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 1) ด่านศุลกากรเกาะสมุย 2) ด่านศุลกากรบ้านดอน (เดิมอยู่ภายใต้สำนักงานศุลกากรภาคที่ 1) 3) ด่านศุลกากรกระบี่ 4) ด่านศุลกากรกันตัง 5) ด่านศุลกากรท่าอากาศยานภูเก็ต 6) ด่านศุลกากรนครศรีธรรมราช 7) ด่านศุลกากรภูเก็ต และ 8) ด่านศุลกากรสิชล (เดิมอยู่ภายใต้สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4)
2การควบรวมด่านศุลกากรบูเก๊ะตาไว้กับด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก โดยด่านศุลกากรบูเก๊ะตายังมีการดำเนินการเช่นเดิมแต่เปลี่ยนจากด่านเป็นศูนย์บริการบูเก๊ะตาซึ่งอยู่ภายใต้ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4
3สำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า ตัวชี้วัดสำคัญเพื่อวัดความสำเร็จของการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของกรมศุลกากร กค. ประกอบด้วย 6 ตัวชี้วัด เช่น จำนวนภาษีที่จัดเก็บจากการนำเข้า - ส่งออก เป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์ของการปรับโครงสร้างในภาพรวมของกรมศุลกากร และงานพิจารณาอนุมัติ อนุญาต คำร้อง คำขอ ของสำนักงานศุลกากรมาบตาพุดเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดเป็นการสะท้อนการปรับโครงสร้างของสำนักงานศุลกากรมาบตาพุด
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3324