รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 March 2022 21:55
- Hits: 2477
รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 (เป็นการดำเนินการตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 338/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ข้อ 2.5 ที่กำหนดให้คณะกรรมการฯ มีหน้าที่จัดทำรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี) มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
เรื่อง |
ผลการดำเนินงาน |
|
1. การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ |
||
1.1 ปรับปรุงแก้ไขคำสั่งคณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ จำนวน 11 ชุด |
- ขยายขอบเขตหน้าที่และอำนาจของคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ จาก “รับเรื่องราวร้องทุกข์ พิจารณาคัดกรองคำร้องกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคน จากการบังคับให้หายสาบสูญ” เป็น “รับเรื่องราวร้องทุกข์ ตรวจสอบข้อมูล แสวงหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานเพื่อประกอบคำร้อง และพิจารณาคัดกรอง...” |
|
1.2 การพิจารณาแนวทางดำเนินการ กรณีบุคคลไทยสูญหายในต่างประเทศ |
- ปัจจุบันมีบุคคลไทยที่สูญหายในต่างประเทศ 9 ราย โดยแบ่งเป็นใน สปป. ลาว 5 ราย ในเวียดนาม 3 ราย และในกัมพูชา 1 ราย ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ มีเขตอำนาจดำเนินงานภายในประเทศเท่านั้น ดังนั้น หากได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีบุคคลไทยสูญหายในต่างประเทศ ให้คณะอนุกรรมการคัดกรองฯ รับเรื่องร้องทุกข์ตรวจสอบข้อมูล แสวงหาข้อเท็จจริง พยานหลักฐานจากญาติของบุคคลสูญหายแล้วประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการต่อไป |
|
1.3 การติดตามและผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคล สูญหาย พ.ศ. .... |
- กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยกร่างพระราชบัญญัติฯ และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ |
|
1.4 การเยือนอย่างไม่เป็นทางการของผู้แทนจากคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับหรือไม่สมัครใจ |
- คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้คณะทำงานสหประชาชาติฯ เยือนอย่างไม่เป็นทางการฯ เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สิ้นสุดลง โดยในระหว่างนี้ให้จัดประชุมหารือกับคณะทำงานสหประชาชาติฯ ในรูปแบบออนไลน์ |
|
1.5 การเสนอชื่อบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสหประชาชาติประจำอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี |
- คณะกรรมการสหประชาชาติฯ 5 คน ได้หมดวาระเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และ ยธ. ได้เสนอชื่อ ดร. ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นอดีตผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างปี 2552-2555 |
|
2. การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ |
||
2.1 การติดตามและตรวจสอบกรณีถูกบังคับให้หายสาบสูญ จำนวน 90 ราย |
- แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1) กรณีบุคคลสูญหายตามบัญชีรายชื่อของคณะทำงานสหประชาชาติฯ 87 ราย โดยแยกเป็น กรณีที่ถอนรายชื่อออกจากบัญชีฯ แล้ว 12 ราย อยู่ระหว่าง กต. ส่งให้คณะทำงานสหประชาชาติฯ พิจารณา 67 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ 3 ราย และอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 5 ราย 2) กรณีบุคคลสูญหายที่ส่งต่อมาจากคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ 3 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ 2 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 1 ราย |
|
2.2 การดำเนินการเพื่อลดข้อห่วงกังวลของคณะทำงานสหประชาชาติฯ |
- เนื่องจากคณะทำงานสหประชาชาติฯ แจ้งว่ามีข้อร้องเรียนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ไปพบครอบครัวบุคคลผู้สูญหายเพื่อโน้มน้าวใจให้ถอนเรื่องหรือยุติการติดตามผู้สูญหายโดยคณะอนุกรรมการติดตามฯ ได้ดำเนินการ เช่น ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เห็นวิธีการดำเนินงานจริงและสร้างความเชื่อมั่นว่าญาติผู้เสียหายไม่ได้ถูกโน้มน้าวให้ถอนเรื่อง นอกจากนี้คณะทำงานสหประชาชาติฯ ได้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบกรณีบุคคลถูกบังคับให้หายสาบสูญในประเทศไทย ผ่าน กต. โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ 1) ภาครัฐควรใช้วิธีการติดตามตรวจสอบกรณีบุคคลถูกบังคับให้หายสาบสูญที่แสดงถึงความเคารพไม่กดดันญาติผู้เสียหาย เปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นพูดได้อย่างอิสระ และรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกทุกคนในครอบครัวของผู้เสียหาย และ 2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหารือกับผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการประสานกับญาติผู้เสียหาย |
|
3. การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเยียวยากรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ |
||
- การพิจารณาเยียวยากรณีคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ขอให้ภาครัฐจ่ายค่าชดใช้ในอัตราก้าวหน้าตามหลักสากลตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อติดตามผู้เสียหายและช่วยเหลือผู้เสียหายจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เพื่อช่วยเหลือญาติวีรชนที่เสียชีวิตและสูญหาย |
- คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ ได้มีมติให้ญาติผู้สูญหายได้รับค่าทดแทนจากรัฐ รายละ 413,368 บาทซึ่งถือว่าเป็นการได้รับการเยียวยาจากรัฐพอสมควรแล้ว |
|
4. การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการป้องกันการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสายสูญ เช่น |
||
4.1 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับกฎหมาย และมาตรฐานระหว่างประเทศ การสืบสวนสอบสวนกรณีที่สงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยมิชอบด้วยกฎหมายและการบังคับให้สูญหาย |
- สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล จัดประชุมฯ เมื่อวันที่ 21-22 ธันวาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออบรมให้ความรู้ในการสืบสวนสอบสวน เก็บข้อมูล และพยานหลักฐานต่างๆ ในกรณีเสียชีวิตโดยมิชอบโดยกฎหมาย |
|
4.2 การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติงานของผู้บังคับใช้กฎหมาย |
- โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ จัดประชุมฯ เมื่อวันที่ 22-23 มีนาคม 2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมทั้งฝึกปฏิบัติในการประยุกต์ใช้สิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ |
|
4.3 การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติงานของผู้บังคับใช้กฎหมาย ครั้งที่ 2 ผ่านแอปพลิเคชัน Cisco Webex |
- ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 40 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในประเด็นสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีรวมทั้งฝึกปฏิบัติในการประยุกต์ใช้สิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่กับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ |
|
4.4 การผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ |
- ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่สรุปความรู้เกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน |
|
5. การดำเนินงานของคณะอนุกรรมการคัดกรองกรณีถูกกระทำทรมารและถูกบังคับให้หายสาบสูญ |
||
- สถิติการรับเรื่องราวร้องทุกข์ของคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ เขตพื้นที่ 1-11 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 |
5. คณะอนุกรรมการคัดกรองฯ ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรณีถูกกระทำทรมาน 7 เรื่อง โดยคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเขตพื้นที่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมากที่สุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พบว่า มีสัดส่วนลดลง คิดเป็นร้อยละ 80.6 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3320