ผลการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 March 2022 21:44
- Hits: 2565
ผลการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เสนอ ผลการประชุม กพย. ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน [เป็นการดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2556 ข้อ 9 (10) ที่กำหนดให้ กพย. รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน
1.1 การดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thailand's SDG Roadmap) ที่ประชุมได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานตามแผนการขับเคลื่อนฯ ซึ่งประกอบด้วย (1) การสร้างความตระหนักรู้ (2) ความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) กับแผน 3 ระดับของประเทศ (3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) การดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs (5) ภาคีการพัฒนา และ (6) การติดตามประเมินผลการขับเคลื่อน SDGs โดยมีการดำเนินการ เช่น การจัดให้มีระบบสาธารณสุขถ้วนหน้าและอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งทำให้ไทยมีความคืบหน้าสำคัญตาม SDGs เป้าหมายที่ 3 และการจัดทำระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ร่วมกับกลไกคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ที่สนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำตาม SDGs เป้าหมายที่ 10 ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มอบหมายให้ สศช. ในการประสานภาคีการพัฒนาเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
1.2 การรายงานการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยสมัครใจของไทย (Voluntary National Review: VNR) ประจำปี 2564 ที่ประชุมรับทราบรายงาน VNR ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยกล่าวรายงานต่อที่ประชุมหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ค.ศ. 2021 โดยได้เน้นย้ำถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกดิจิทัล รวมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสมดุล ทั้งนี้ ไทยได้ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้และพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันในรูปแบบของโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) เพื่อนำไปสู่การบรรลุ SDGs นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการขับเคลื่อน SDGs รวมทั้งการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อสื่อสารกับประชาชนทั่วไปและเผยแพร่ไปสู่สถาบันการศึกษาในระดับพื้นที่อย่างทั่วถึง
1.3 การปรับปรุงคณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้ กพย. ที่ประชุมเห็นชอบการยกเลิกคณะอนุกรรมการภายใต้ กพย. จำนวน 2 คณะ ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและ (2) คณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อลดความซ้ำซ้อนในภารกิจและงบประมาณ และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 คณะ และคณะทำงาน 1 คณะ ดังนี้ (1) คณะอนุกรรมการภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (2) คณะอนุกรรมการพลังเยาวชนขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (3) คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของไทยในกรอบสหประชาชาติ
2. แนวทางการขับเคลื่อน SDGs ของไทยในระยะต่อไป ที่ประชุมเห็นชอบให้การขับเคลื่อน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานเป้าหมาย SDGs สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติโดยยึดหลักวงจรบริหารคุณภาพ (Plan-Do-Check-Act: PDCA) ประกอบด้วย
2.1 วางแผน (Plan) โดยเชื่อมโยง SDGs กับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 โดยเฉพาะแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและห่วงโซ่คุณค่าของประเทศ เพื่อเป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน โดยยึดเป้าหมายการพัฒนาประเทศเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกันของหน่วยงาน
2.2 ลงมือดำเนินการ (Do) การจัดทำโครงการ/การดำเนินงานโดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าที่ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายประกอบการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายย่อยของ SDGs ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ การจัดทำแผน การจัดทำโครงการ/การดำเนินงาน และการปฏิบัติในระดับพื้นที่
2.3 ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินการ (Check) โดยติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลความก้าวหน้าของการขับเคลื่อน SDGs รวมถึงการจัดการข้อมูล และการรายงานผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) รวมทั้งจัดทำสรุปผลการดำเนินการประจำปีเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์และความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs และเสนอ กพย. รวมทั้งเผยแพร่ต่อสาธารณชน
2.4 ปรับปรุงการดำเนินการ (Act) วิเคราะห์และประมวลข้อมูลจากการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อนำไปปรับปรุงและยกระดับการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs รวมถึงพัฒนากระบวนการดำเนินงานและยกระดับมาตรฐานการจัดทำโครงการให้มีประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การบรรลุ SDGs ในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3318