การปรับปรุงบทบาทภารกิจของภาครัฐ : แนวทางการขับเคลื่อนการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐ (Sandbox)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 March 2022 21:42
- Hits: 2490
การปรับปรุงบทบาทภารกิจของภาครัฐ : แนวทางการขับเคลื่อนการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐ (Sandbox)
คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทน (Sandbox) ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. รายงานว่า
1. การปรับบทบาทภารกิจภาครัฐเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้ภาครัฐสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและการพัฒนาประเทศ โดยจะต้องมุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้หน่วยงานภาครัฐเร่งปรับระบบหรือวิธีการทำงานหรือยุบเลิกภารกิจที่ไม่จำเป็นหรือถ่ายโอนภารกิจให้ภาคสวนอื่นรับไปดำเนินการ ก.พ.ร. ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 จึงมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐ1 (Sandbox) และให้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแนวทางการขับเคลื่อนการถ่ายโอนงานภาครัฐให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นเข้ามาร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทน สรุปได้ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 : งานที่มีโอกาสนำไปสู่การปฏิบัติได้สำเร็จ (รวม 6 งาน) |
||
รายชื่องาน |
แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน |
|
1. งานตรวจสถานประกอบการ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในอาคารควบคุม (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและ อนุรักษ์พลังงาน) |
เพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาบทบาทของส่วนราชการให้เป็น Smart Regulator ได้แก่ พัฒนาระบบการจัดส่งรายงานของเจ้าของอาคารควบคุมและการแจ้งผลของส่วนราชการในรูปแบบ e-license (Fully Digital) และพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานอาคารของเอกชนผู้รับถ่ายโอนงานให้มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการอาคารควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ |
|
2. งานรับรองมาตรฐานสินค้า (กรมการค้าต่างประเทศ) |
เพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าเพิ่มเติม และแสดงผลแบบ real time รวมถึงลดขั้นตอนกระบวนงาน ได้แก่ ขยายขอบเขตการเชื่อมโยงข้อมูลเพิ่มเติมและพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับงานรับรองมาตรฐานสินค้าให้แสดงผลแบบ real time และลดขั้นตอนกระบวนงานตรวจและรับรองมาตรฐาน |
|
3. งานตรวจเรือเพื่อออกใบสำคัญรับรองการตรวจเรือ (กรมเจ้าท่า) |
• ปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยผลักดันการร่างกฎหมาย ข้อกำหนด หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนงานตรวจเรือลำเลียงที่ใช้งานในน่านน้ำประเทศไทยให้สามารถบังคับใช้ • เพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์รองรับการจ่ายค่าธรรมเนียม (e-Payment) และออกใบเสร็จ (e-Receipt) • ขยายเวลาการให้บริการ (ไม่เว้นวันหยุดราชการ) |
|
4. งานรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน ด้านท่องเที่ยวและบริการ (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) |
• กำหนดมาตรการส่งเสริมในการพัฒนาและสร้างมาตรการในการจูงใจภาคเอกชน โดยกำหนดมาตรการให้เงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานฯ ของประชาชนในการเข้ารับการทดสอบจากภาคเอกชน • เพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบการกำกับ ติดตาม และควบคุมคุณภาพการทดสอบของศูนย์ทดสอบฯ เอกชนให้เป็นระบบดิจิทัล |
|
5. งานขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ประกอบการและขอรับรองรายการสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (กรมบัญชีกลาง) |
เพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการในระบบการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand: MIT) กับฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และฐานข้อมูลมาตรฐานสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมบัญชีกลาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การเชื่อมโยงการส่งต่อ/ตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม/มาตรฐานสินค้าต่างๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ |
|
6. งานรับรองหลักสูตรและสถานศึกษา (นวด/สปา) (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) |
เพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบการยื่นคำขอการส่งเอกสารและแจ้งผลให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ |
กลุ่มที่ 2 : งานที่มีความท้าทายในการขับเคลื่อน (รวม 2 งาน) |
||
รายชื่องาน |
แนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน |
|
1. งานรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม (กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) |
• ปรับกฎหมายให้เอื้อกับการมอบเอกชนดำเนินการโดยกำหนดมาตรการส่งเสริม เช่น ทบทวนและกำหนดอัตราค่าทดสอบในแต่ละด้านให้เหมาะสม/สะท้อนต้นทุนของภาคเอกชนให้เงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการทดสอบฯ มาตรการลดหย่อนภาษี • เพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาแนวทางเพื่อยกระดับการประกันคุณภาพศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานภาคเอกชน |
|
2. งานขออนุญาตประกอบกิจการ สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) |
• ผลักดันการปรับปรุงพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 รองรับการมอบให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมตรวจประเมินสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ • ส่งเสริมการสร้างความรู้เรื่องเกณฑ์/มาตรฐานสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ • เพิ่มประสิทธิภาพ โดยเชื่อมต่อข้อมูลสถานประกอบการฯ สาขาการดูแลผู้สูงอายุกับระบบ Biz Portal (เป็นระบบกลางในการขอเริ่มต้นการประกอบธุรกิจในประเทศไทย) และจัดทำข้อมูล (Big Data) ภาคบริการด้าน Wellness |
ทั้งนี้ ก.พ.ร. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในการดำเนินงานจำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และต้องสร้างความเข้าใจกับส่วนราชการให้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับจากการถ่ายโอนงานให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นมาร่วมดำเนินการแทน รวมทั้งกำหนดให้มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ไว้ในแผนการดำเนินงาน เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบราชการให้บรรลุได้อย่างเป็นรูปธรรม
2. นอกจากนี้ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้สมัครใจขอเข้าร่วมเป็นหน่วยงานนำร่องการถ่ายโอนงานภาครัฐให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทน (Sandbox) เพิ่มเติม ในงานเกี่ยวกับกิจการสถานศึกษา สถานฝึกอบรมหรือสถานที่แนะนำทางจิตให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นดำเนินการหรือร่วมดำเนินการแทนตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553
3. ในระยะต่อไป สำนักงาน ก.พ.ร. จะสรุปบทเรียนการดำเนินงานการนำร่องถ่ายโอนงานภาครัฐ (Sandbox) และศึกษากรณีศึกษาที่ดี (Best Practices) ของต่างประเทศ รวมทั้งจะจัดทำแนวทางการถ่ายโอนงานภาครัฐให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทน เพื่อขยายผลการถ่ายโอนงานในส่วนราชการไปสู่การบรรลุเป้าหมายความสำเร็จในการปรับลดบทบาท ภารกิจภาครัฐที่ทำเท่าที่จำเป็น ใช้งบประมาณภาครัฐอย่างคุ้มค่าและประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สะดวก และทั่วถึงยิ่งขึ้นต่อไป
_____________________
1 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาเรื่อง “ทำไมการถ่ายโอนภารกิจภาครัฐในประเทศไทยจึงไม่ประสบความสำเร็จ (Why Outsourcing fails in Thailand ?) เพื่อวิเคราะห์และคัดเลือกงานที่เหมาะสมสำหรับนำไปทดลองนำร่อง (Sandbox) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการให้บริการ โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาและปัจจัยสำคัญที่ทำให้การถ่ายโอนภารกิจภาครัฐในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ เช่น กฎหมาย กฎ ระเบียบซับช้อน ยุ่งยาก ไม่เอื้อต่อการถ่ายโอนงานให้ภาคเอกชน การขาดมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ ส่วนราชการไม่ประสงค์ถ่ายโอนงานให้ภาคเอกชนและการลงทุนของภาคเอกชนไม่คุ้มค่า ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การถ่ายโอนงานประสบความสำเร็จ เช่น การมีกฎหมายรองรับการดำเนินการของภาคเอกชน และการให้ความสำคัญหรือให้การสนับสนุนจากผู้บริหารภาครัฐ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3317