หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 March 2022 21:25
- Hits: 2530
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
2. ให้สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยก่อนวันที่ 16 มีนาคม 2565 เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และที่แก้ไขเพิ่มเติม จนกว่าผู้ป่วยจะถูกจำหน่ายตามเกณฑ์การพิจารณาจำหน่ายผู้ป่วยของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ให้สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยนับแต่วันที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้มีผลใช้บังคับให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
3. ให้กระทรวงการคลัง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุขดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) และดำเนินการค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย ให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน และกรณีค่าใช้จ่ายโดยไม่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ให้ใช้บัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 โดยอนุโลม
4. ให้กองทุนของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการด้านการแพทย์หรือสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
5. ให้สถานพยาบาลซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ สภากาชาดไทย ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID - 19))
สาระสำคัญ
1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 กำหนดบทนิยามในหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ดังต่อไปนี้
(1) คำว่า “ค่าใช้จ่าย” หมายความว่า ค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการการรักษาพยาบาล หรือการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
(2) คำว่า “ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” หมายความว่า ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน เฉพาะกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19))
(3) คำว่า “สถานพยาบาล” หมายความว่า สถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
1.2 กำหนดให้สถานพยาบาลต้องจัดให้มีการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและขีดความสามารถของสถานพยาบาลโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษา และให้สถานพยาบาลแจ้งต่อกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐทราบโดยเร็ว
1.3 กำหนดให้กรณีที่มีปัญหาการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้ปรึกษาศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ตลอดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง เพื่อดำเนินการวินิจฉัยโดยคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติให้ถือเป็นที่สุด
แนวทางการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และแบบแจ้งผลการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตให้เป็นไปตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกำหนด
1.4 กำหนดให้สถานพยาบาลต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
1.5 กำหนดให้กรณีมีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปรับการรักษายังสถานพยาบาลอื่น สถานพยาบาลต้องจัดการให้มีการส่งต่อตามความเหมาะสม ตามมาตรฐานวิชาชีพ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและตามมาตรฐานการส่งต่อผู้ป่วยตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด โดยให้ส่งต่อได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้
(1) สถานพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปรักษาตัวในเครือข่ายสถานพยาบาลที่จัดไว้สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
(2) สถานพยาบาลมีศักยภาพไม่เพียงพอในการดูแลรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
(3) ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือญาติมีความประสงค์จะไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น
1.6 กำหนดให้สถานพยาบาลจะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปยังสถานพยาบาลอื่นในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
กรณีสถานพยาบาลส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไปรับการดูแลรักษายังสถานพยาบาลอื่นตามข้อ 5 (1) หากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือญาติปฏิเสธไม่ขอให้ส่งต่อ หรือกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือญาติประสงค์จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลอื่นตามข้อ 5 (3) ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง
1.7 กำหนดให้สถานพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามแนวทางการเรียกเก็บที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด
1.8 กำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตรวจสอบความถูกต้อง สรุปค่าใช้จ่ายและแจ้งให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ทราบภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเอกสารครบถ้วนแล้ว
1.9 กำหนดให้กองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ จ่ายค่าใช้จ่ายในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ให้แก่สถานพยาบาลภายในสิบห้าวัน นับจากวันที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแจ้งกองทุนของผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม หรือกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน หรือจากส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
1.10 กำหนดให้ในกรณีที่มีการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจากสถานพยาบาลแห่งที่หนึ่งไปยังสถานพยาบาลที่รับส่งต่อสถานพยาบาลนั้น จะได้รับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาตั้งแต่รับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ในอัตราตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้
1.11 กำหนดให้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป
1.12 กำหนดหมายเหตุท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต กฎหมายว่าด้วยประกันวินาศภัย ให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน
(2) กรณีค่าใช้จ่ายใดไม่ปราฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขนี้ ให้ใช้บัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวัน 28 มีนาคม 2560 โดยอนุโลม
2. การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในขั้นตอนต่อไป สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะกำหนดแนวทางและเกณฑ์การประเมินคัดแยกระดับความฉุกเฉิน (PA) Emergency Pre-Authorization ของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ใช้ประกอบการวินิจฉัยและคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19)
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 รายละเอียด ดังนี้
2.1 ประชุมหารือการจัดการ HI/CI ร่วมกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และภาคประชาสังคม
2.2 ประชุมการชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) สำหรับโรงพยาบาลเอกชน
2.3 ปิดรับสมัครงานตำแหน่ง พนักงานให้บริการ Contact Center เฉพาะกิจ COVID-19 (สายด่วน สปสช. 1330)
2.4 แจ้งขอถอนเรื่องและส่งคืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยาและการจัดให้มีการส่งต่อผู้ปวยไปยังสถานพยาบาลอื่น จำนวน 2 ฉบับ ที่ส่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3315