ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากร)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 04 March 2022 12:45
- Hits: 8567
ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากร)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตและความเห็นของกระทรวงการคลังและคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอ สภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ
3. ให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ เป็นการกำหนดให้ศาลภาษีอากรซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีภาษีที่เป็นคดีแพ่งให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในส่วนคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร และให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยอนุโลม เพื่อเป็นการลดภาระแก่คู่ความที่ต้อง ดำเนินกระบวนพิจารณาในสองศาล ลดกระบวนการพิจารณาในการสืบพยานหลักฐานในส่วนคดีอาญาของศาล ซึ่งข้อเท็จจริงจะปรากฏในสำนวนคดีแพ่ง การใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษในคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากรไม่มี ความแตกต่างกันจะดำเนินการโดยศาลชำนัญพิเศษด้านภาษีอากรที่มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความชำนาญในกฎหมายภาษีอากรโดยเฉพาะ และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “คดีภาษีอากร” ใหม่ และกำหนดให้ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร โดยให้คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวไม่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากร รวมทั้งในกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้กระทำเป็น พระราชกฤษฎีกา ตลอดจนให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวโดยอนุโลม
2. กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางโดยอนุมัติประธานศาลฎีกา มีอำนาจ ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของคดีอาญาโดยต้องไม่ทำให้สิทธิในการต่อสู้คดีอาญาของจำเลยลดน้อยลงกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
3. แก้ไขเพิ่มเติมการทราบกำหนดนัดของศาลในคดีส่วนแพ่ง
4. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ ฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลในคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร โดยให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม รวมถึงให้นำประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวในศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษและศาลฎีกาโดยอนุโลมด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3124